phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

รถยนต์แช่น้ำ (จมน้ำ) ลึก

หมวด การใช้รถ | จำนวนคนอ่าน 9487 ครั้ง | เมื่อ : 20 ธ.ค. 2554 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

    ตามหัวข้อเรื่องเชื่อเหลือเกินว่าทุกๆท่านต้องการที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่แล้วในเรื่องของภาวะน้ำท่วม  การที่น้ำท่วมไม่ว่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ก็แล้วแต่  โดยที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ จะทำอย่างไรกันดีหละครับท่านผู้อ่าน  และในโอกาสนี้จะกล่าวถึงกรณีน้ำท่วมกับตัวรถยนต์เท่านั้นนะครับ
     ท่านเจ้าของรถยนต์หากพบว่า จำเป็นที่จะต้องป้องกันรถยนต์ของตนเองหรือหาวิธีการใดๆเพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะน้ำท่วมหรือแม้กระทั่งให้รถยนต์มีการสูญเสียที่น้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ( ยิ่งดี ) ภาวะน้ำท่วมอาจจะมีแบบเฉียบพลันโดยการตั้งตัวไม่ติดและแบบค่อยเป็นค่อยไป  ในอย่างแบบหลังนั้นยังพอมีเวลาและหาวิธีการป้องกันได้หรือลดการสูญเสียได้นั่นเองครับ  ดังนั้น  หากวิเคราะห์แล้วว่ารถยนต์ของตนเองจะต้องพบกับภาวะน้ำท่วมแน่ๆ ( เข้ายังห้องโดยสารได้ ) ท่านเจ้าของรถคงต้องรีบทำการใดการหนึ่งอย่าปล่อยไว้เฉยๆโดยไม่ทำการอันใด  ยกเว้นรถยนต์ของท่านมีประกันภัยรถยนต์ ( ดูกรมธรรม์ ) ประเภทที่คุ้มครองทุกกรณีอีกด้วยครับ
     ต้องขอบอกว่ารถยนต์สมัยใหม่นั้น( รถเก่าก็มี )จะมีระบบคอมพิวเตอร์และอีเล็กทรอนิคที่มากมาย  หรือประเภทของสมองกลต่างๆ  อยากจะชี้แจงว่าหากพบว่าน้ำท่วมถึงภายในห้องโดยสารแน่ๆ ( ขอย้ำ ) เป็นไปได้หรือไม่  ให้นึกถึงพวกสมองกลต่างๆ ( ถ้าหากไม่ลืมจนเกินไป ) มิฉะนั้นถ้าหากมีการเสียหาย  จะมีราคาที่ค่อนข้างที่จะสูงเอาการเลยที่เดียว  เพราะน้ำเป็นตัวที่ส่งผลกระทบแน่ๆ  ขนาดในบางครั้งยังไม่มีการโดนน้ำยังมีการขัดข้องเลย  ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยไป  แต่ก็มีในบางครั้งมีการโดนน้ำแค่แพลบเดียว  แล้วรีบทำให้แห้งก็อาจจะไม่เป็นอะไร  ในทางกลับกันหากมีการโดนน้ำในระยะเวลาที่นานความเสียหายย่อมมีเพิ่มเช่นเดียวกันครับ
     กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วมได้และเข้าถึงห้องโดยสารแน่ๆ( ไม่มีประกันภัยและพอมีเวลาอยู่บ้าง )  ในเบื้องต้นท่านเจ้าของรถ  ให้รีบนำทรัพย์สินมีค่าที่อยู่ภายในรถ  ออกมาจากรถรวมถึงเอกสารที่สำคัญๆก่อนเพราะง่ายต่อการหยิบฉวย  ต่อไปก็ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่สามารถถอดออกด้วยมือโดยง่าย  จากนั้นก็ค่อยถอดชิ้นส่วนของรถยนต์ที่มีความสำคัญต่อไป  อันได้แก่
     ตัดแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าของรถยนต์ทั้งหมด  คือ การถอดขั้วแบตเตอรี่หรือกระทั่งถอดแบตเตอรี่ออกมาเลยก็ย่อมได้  การกระทำเช่นนี้จะใช้เครื่องมือที่ไม่มากและใช้เวลาที่ไม่นาน  ป้องกันความเสียหายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าในรถยนต์
     ต่อมาก็จัดการหรือถอดกล่องคอมพิวเตอร์พวกสมองกลต่างๆ ( ถ้ากระทำได้เอง )
     อันดับต่อไปก็พวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ  ที่มีราคาแพงรวมถึงการโดนน้ำมีความเสียหายแน่ๆ  เช่น  มาตรวัด, เบาะนั่ง ในส่วนของเบาะนั่งบางรุ่น  ที่มีชุดถุงลมนิรภัย ( Air bag ) อาจจะต้องคำนึงถึงกันให้มากๆแล้วพวกก็เบาะหนังด้วยนะครับ
     ถัดมาในส่วนของตัวเครื่องยนต์กันบ้าง  อันนี้ต้องบอกเสียก่อนเลยว่าคงกระทำอะไรไม่ได้มากนักแต่ก็มีแนวทางป้องกันได้บางส่วน  คือ  ให้ปิดท่อทางอากาศที่จะเข้าสู่ห้องเผาไหม้อันนี้จะใช้เวลาและอุปกรณ์ที่ไม่มากนัก ( อาจจะแค่ถุงพลาสติกก็เพียงพอ )  ให้นึกภาพเปรียบเทียบกันรถยนต์ที่ขับลุยป่าลุยน้ำจะเห็นได้ว่า  จะมีการต่อท่ออากาศขึ้นสูงในขณะที่มีการใช้รถยนต์  แต่สำหรับการที่เราปิดแล้วไม่ได้ติดเครื่องยนต์สามารถกระทำได้ครับ  ( เครื่องยนต์จะต้องไม่มีการรั่วที่อื่นใดอีก )
     มาดูในส่วนของช่วงล่างและระบบส่งกำลังกันบ้างสำหรับในส่วนนี้แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย  แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ท่านเจ้าของรถไม่ควรจะกระทำ  และสิ่งนั้นก็คือการขึ้นเบรกมือ  ให้มีการหลีกเลี่ยงไว้ (  ถ้าน้ำท่วมถึงชุดเบรก ) เพราะจะทำให้เกิดการติดขัดได้  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ  ชุดเบรกมือจะติดแน่นกับจานเบรกนั่นเอง  ดังนั้นไม่ควรปฏิบัตินะครับ  อาการนี้จะเป็นหลังจากน้ำแห้งแล้ว  ให้หาวิธีอื่นแทนแต่ถ้าเพื่อป้องกันรถไหล (  ในกรณีรถยนต์ติดพื้น )  ได้แก่  ให้เข้าเกียร์ในตำแหน่งเกียร์  p สำหรับระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ  สำหรับระบบส่งกำลังแบบธรรมดา  ให้ใส่เกียร์เดินหน้า  ( ต้องดับเครื่องยนต์ก่อนนะครับ ) ถ้าหากเป็นทางลาดชันอาจจะต้องใช้อุปกรณ์หนุนล้อช่วยก็ย่อมดีมากขึ้นตามลำดับครับ
     เท่าที่แนะนำมานั้นก็ใช้เวลาไปในระดับหนึ่งแล้ว  ดังนั้นอุปกรณ์อื่นๆของรถยนต์อีกก็คงต้องปล่อยไป  ตามที่กล่าวมาอาจจะไม่ได้กล่าวถึงชิ้นส่วนทั้งหมดของรถยนต์กันนะครับ  และหลังจากที่ผ่านพ้นภาวะน้ำท่วมแล้วให้ทำการบูรณะรถยนต์ของตนเองต่อไป  คงเป็นไปไม่ได้เลยว่ารถยนต์จมน้ำแล้วนั้นจุดใดที่มีการเสียหายบ้างคงจะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยช่างผู้ชำนาญต่อไป  ตามที่กล่าวมานั้นก็เพื่อให้รถยนต์มีความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในกรณีที่รถยนต์จะต้องจมน้ำจริงๆครับ
     ในกรณีที่รถยนต์คันนั้นมีประกันภัยขอให้ตรวจสอบให้ดีว่าครอบคลุมอะไรบ้าง  เช่น ค่าใช้จ่ายในการยกรถหรือค่าลากรถหรือไม่  การประกันภัยนั้นตามอู่หรือประกันห้าง ( ศูนย์บริการ ) เป็นต้น เพราะการที่รถยนต์จมน้ำคงไม่สามารถกระทำได้ ณ จุดนั้นเป็นแน่  ยกเว้น ผู้ที่มีความสามารถและเครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์ที่ครบถ้วนด้วยนั่นเอง  ดังนั้น หากรถยนต์ของท่านมีการซ่อมและต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด  คงจะต้องคิดกันต่อว่าจะซ่อมหรือขาย  อันไหนที่จะคุ้มกว่ากันนั่นเองครับ  จึงอยากเรียนว่าพิจารณากันให้ดีและอย่างถี่ถ้วนนะครับ

เพราะเราพิธานฯ  ห่วงใย...ในรถคุณ
แผนกเทคนิคและฝึกอบรม
บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด ( กรุงเทพฯ )

 

หมวด การใช้รถ | จำนวนคนอ่าน 9487 ครั้ง | เมื่อ : 20 ธ.ค. 2554 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

เลือกซื้อสินค้าออนไลน์ Trumq