หมวดหมู่
บทความล่าสุด
สตาร์ทและอุ่นเครื่องยนต์ ตอนเช้า
หลังจากรถของท่านจอดนอนพักผ่อนมาในตอนกลางคืน เครื่องยนต์ที่เคยร้อนตอนใช้งานก็จะเย็นลง จนมีอุณหภูมิเท่ากับหรือใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อม และ ณ เวลาที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่นี้ หากมีการใช้งาน เครื่องยนต์ก็จะมีการสึกหรอที่สูงมาก แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ บทความนี้มีข้อแนะนำสำหรับ การใช้รถในช่วงเช้าหลังจากสตาร์ทเครื่องใหม่ๆ แต่ก่อนจะถึงข้อแนะนำ เราลองมาดูที่สาเหตุของการสึกหรอกัน ก่อนนะครับ
สาเหตุหลักที่เครื่องยนต์จะมีอัตราการสึกหรอสูง ในตอนเช้า ขณะเครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ มีดังนี้
- ขณะกำลังสตาร์ทเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่องที่รวมกันอยู่ด้านล่างของเครื่องยนต์จะยังไม่สามารถ กระจายไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ได้ ชิ้นส่วนในเครื่องจะเสียดสีกันโดยตรงโดยไม่มี การหล่อลื่น (อาจมีสารหล่อลื่นตกค้างอยู่บ้าง แต่น้อยมาก) ทำให้มีการสึกหรอสูงมาก
- น้ำมันเครื่องที่เย็นจะมีความหนืดสูง แม้ว่าเครื่องยนต์จะสตาร์ทติดแล้ว มีน้ำมันกระจายไปหล่อ ลื่นส่วนต่างๆ แล้ว แต่อุณหภูมิของน้ำมันเครื่องยังต่ำอยู่ ความสามารถในการหล่อลื่นก็จะยังไม่ดีนัก จนกว่าจะถึงอุณหภูมิใช้งานของเครื่องยนต์ (การใช้น้ำมันเครื่องเกรดรวม หรือ แบบ multi-grade ซึ่งเป็นน้ำมันเครื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงความหนืดน้อยกว่าน้ำมันเครื่องปกติเมื่อ อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป จะช่วยให้อัตราการสึกหรอจากกรณีนี้ลดลง)
เมื่อเครื่องยนต์และน้ำมันเครื่องร้อนขึ้น การหล่อลื่นก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการสึกหรอก็จะค่อยๆลดลง จนมีอัตราการสึกหรอต่ำสุดเมื่อเครื่องยนต์ร้อนถึงอุณหภูมิใช้งาน โดยเราสามารถสังเกตดูได้ที่เกจวัดอุณหภูมิบนแผงหน้าปัทม์ ในปัจจุบันผู้ผลิตมักออกแบบให้เข็มความร้อน เมื่อมาอยู่ ณ ตำแหน่งตรงกึ่งกลางของเกจก็จะหมายถึงว่าเครื่องยนต์ได้มาอยู่ ณ อุณหภูมิใช้งานพอดีแล้ว
จากสาเหตุดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาข้อเสนอแนะเหล่านี้ดู
1. ในเมื่อตอนกำลังสตาร์ทเครื่องยนต์เป็นช่วงที่มีการสึกหรอมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้ เครื่องยนต์มีการสึกหรอน้อยที่สุด เราก็จะต้องสตาร์ทเครื่องให้น้อยครั้งมากที่สุด และเพียงครั้งละสั้นๆเท่านั้น หรือ กล่าวคือ เราต้องการให้เครื่องยนต์ของเราสตาร์ทติดง่ายนั่นเอง
1.1 จะต้องมีการดูแลและตรวจเช็คระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการสตาร์ทเครื่องยนต์อยู่เสมอตามที่ผู้ผลิตกำหนด เช่น แบตเตอรี่ สตาร์ทเตอร์ หัวเทียน(เบนซิน) ระบบจุดระเบิด สายไฟ จุดเชื่อมต่อสาย ฯลฯ
1.2 ต้องมีการดูแลและตรวจเช็คระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่เสมอ ตามที่ผู้ผลิตกำหนด เช่นไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน คาร์บูเรเตอร์ หัวฉีด ท่อน้ำมัน ฯลฯ
1.3 ต้องมีการปรับตั้งเครื่องยนต์ให้ถูกต้อง ตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้
- - - - - - - - - - - - - - -@- - - - - - - - - - - - - - -
2. หลังสตาร์ทเครื่องติดใหม่ๆ ยังไม่ควรให้เครื่องยนต์ทำงานหนักจนกว่าเครื่องยนต์จะร้อนถึงอุณหภูมิ ใช้งานแล้ว
2.1 เมื่อสตาร์ทเครื่องติดแล้วควรปล่อยทิ้งไว้ (อุ่นเครื่อง) สักพัก สักพักที่ว่านี้มีแนะนำกันมากมาย ตั้งแต่ไม่กี่วินาที จนถึงนานเป็นนาที สำหรับความเห็นของผมน่าจะทิ้งไว้ ประมาณ 8- 12 วินาที ก็พอ เพื่อให้น้ำมันเครื่องได้ไหลเวียนกระจายไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆได้ทั่วถึง จากนั้นก็ออกรถได้แล้ว แต่ถ้าเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นก็ควรจะทิ้งไว้นานกว่านี้นะครับ เพื่อให้ตอนออกรถ น้ำมันเครื่องไม่หนืดจนเกินไป
2.2 ออกรถอย่างนิ่มนวล ใช้อัตราเร่งที่ต่ำ ใช้ความเร็วรอบต่ำๆ (ไม่ควรเกิน 2,500 รอบ/นาที.) จนกระทั่ง เข็มของเกจวัดอุณหภูมิขึ้นมาอยู่ใกล้ตำแหน่งกึ่งกลางแล้ว ทีนี้ก็ขับตามสบายครับ
- - - - - - - - - - - - - - -@- - - - - - - - - - - - - - -
3. ระบบระบายความร้อน
3.1 ต้องมีการดูแลและตรวจเช็คระบบระบายความร้อนอยู่เสมอ ตามที่ผู้ผลิตกำหนด เช่น ระดับน้ำหล่อเย็น หม้อน้ำและน้ำยากันสนิม พัดลม ปั๊มน้ำ สายพาน ท่อน้ำ เทอร์โมสตัท ฯลฯ การที่ระบบระบายความร้อนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เครื่องยนต์ที่ พึ่งสตาร์ทใหม่ๆ มีอุณหภูมิสูงขึ้นไปถึง ณ อุณหภูมิใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และ สามารถ รักษาอุณหภูมิของเครื่องยนต์ให้อยู่ที่อุณหภูมิดังกล่าวไว้ได้ตลอดเวลา 3.2 เทอร์โมสตัท เป็นชิ้นส่วนมีบทบาทที่สำคัญมากอันหนึ่งที่จะทำให้เครื่องยนต์มาอยู่ ณ อุณหภูมิใช้งานได้อย่างรวดเร็วและรักษาอุณหภูมิดังกล่าวให้คงที่ไว้ได้ โดยการเปิดปิด วาล์วน้ำให้น้ำหล่อเย็นผ่านไปที่หม้อน้ำเพื่อระบายความร้อนในอัตราปริมาณที่เหมาะสม สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของเครื่องยนต์ ดังนั้น การถอดเทอร์โมสตัทออกไปก็ จะเป็นผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบระบายความร้อนลดลง
- - - - - - - - - - - - - - -@- - - - - - - - - - - - - - -
4. น้ำมันเครื่อง
4.1 ใช้เกรดน้ำมันเครื่องให้ตรงตามที่ผู้ผลิตกำหนด น้ำมันเครื่องที่มีความหนืดมากหรือน้อย เกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพการหล่อลื่นโดยรวมลดลง
4.2 เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองตามระยะทางหรือระยะเวลา (แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน)ตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ น้ำมันเครื่องเก่าเกินอายุการใช้งานจะมีคุณสมบัติการของหล่อลื่นต่ำ เศษโลหะที่สึกหรอ ซึ่งตกค้างอยู๋ในน้ำมันเครื่องจะเป็นตัวเร่งการสึกหรอของชิ้นส่วนต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้สารเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ (additives) ที่ผสมอยู่ในน้ำมันเครื่องก็เสื่อมคุณสมบัติในการทำงานไปแล้ว
- - - - - - - - - - - - - - -@- - - - - - - - - - - - - - -
การปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้น จะเป็นผลให้อัตราการสึกหรอของเครื่องยนต์เป็นไปอย่างช้าๆ เครื่องยนต์จะมีอายุการใช้งานยาวนาน และ จะช่วยประหยัดค่าซ่อมหรือค่าบำรุงรักษาในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่มีเวลาน้อย ต้องรีบเร่งอยู่เสมอ หรือ ท่านที่ใช้รถเพียงไม่นานก็เปลี่ยนซื้อใหม่แล้วอัน นี้ก็คงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักกันเอาเองนะครับ
บทความนี้ ผู้เขียนมีเจตนาจะกล่าวถึงเฉพาะช่วงที่สตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นขณะที่เครื่องยนต์ยังเย็นอยู่ ไม่ได้มีการกล่าวถึงขณะที่เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็มีข้อแนะนำสั้นๆ ว่า หากรถของท่านมีความร้อนขึ้นสูงแล้ว (เกิน 3/4ของเกจ) ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะฝืนขับต่อไป เพราะจะทำให้เครื่องยนต์บอบช้ำ และอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายอย่างหนักได้ ควรจะหาที่จอดและให้ช่างมาตรวจสอบ กรณีนี้ต้องใจเย็นๆ อีกประการหนึ่งคือ ในการขับรถเราควรต้องมองเกจ และ ไฟเตือนบนหน้าปัทม์อยู่เสมอๆ พยายามทำให้เป็นนิสัย สิ่งนี้จะช่วยในเรื่องความปลอดภัย และ ช่วยลดความเสียหายลงได้มาก หากรถของท่านมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น