phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

วิธีการตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องและระดับน้ำหล่อเย็น

หมวด การดูแลรักษารถ | จำนวนคนอ่าน 114239 ครั้ง | เมื่อ : 20 ม.ค. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

การตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่อง
ระดับน้ำมันเครื่องควรมีการตรวจสอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับรถที่ใช้งานปกติ และหากเป็นรถที่ใช้งานหนักหรือวิ่งทางไกลอยู่เป็นประจำควรตรวจสอบทุกครั้งก่อนออกรถหรือทุกเช้าก่อนออกรถ

วิธีการตรวจสอบ
อุ่นเครื่องยนต์จนถึงอุณหภูมิทำงาน *1 แล้วดับเครื่องยนต์ จากนั้นให้ตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องจากก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องหลังจากดับเครื่องยนต์ประมาณ 2-3 นาที เพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลกลับลงอ่างเสียก่อน

1.เพื่อให้การตรวจเช็คถูกต้องแม่นยำควรจอดรถบนพื้นราบ
2.ดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องออก ใช้เศษผ้าจับที่ปลายก้านวัดแล้วเช็ดน้ำมันที่ติดกับก้านวัดออก
3.เสียบก้านวัดกลับลงไปใหม่ที่จุดเดิมให้ลึกที่สุด มิฉะนั้นค่าที่วัดได้จะไม่ถูกต้อง
4.ดึงก้านวัดออกมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องที่ปลายก้านวัด ซึ่งระดับน้ำมันเครื่องควรอยู่ที่ระดับ “ F ” แสดงว่าระดับน้ำมันเครื่องปกติ

ถ้าระดับน้ำมันเครื่องต่ำกว่า “ L ” หรืออยู่เหนือระดับ “ L ” เพียงเล็กน้อยให้เติมน้ำมันเครื่องชนิดเดียวกันเพิ่มลงไป และหากว่าจำเป็นต้องเติมน้ำมันเครื่องแต่ไม่มีน้ำมันเครื่องชนิดเดียวกัน ก็สามารถหาน้ำมันเครื่องที่มีชนิดหรือเกรดที่ใกล้เคียงกันเติมลงไปได้ แต่จะให้ดีควรเติมน้ำมันเครื่องชนิดเดียวกันจะดีกว่า เพราะว่าน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดหรือแต่ละเกรดจะมีอุณหภูมิหรือจุดเดือดที่แตกต่างกัน หากเติมน้ำมันเครื่องต่างชนิดกันลงไปก็จะส่งผลถึงประสิทธิภาพการหล่อลื่นของชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ และทำให้ชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์สึกหรอเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเปิดฝาช่องเติมน้ำมันเครื่องแล้วค่อยๆเติมน้ำมันเครื่องลงที่ละน้อย ซึ่งปริมาณน้ำมันเครื่องที่เติมเพิ่มจากระดับ “ L ” จนถึงระดับ “ F ” จะอยู่ที่ประมาณ 1 ลิตร พร้อมกับตรวจดูระดับน้ำมันเครื่องที่ก้านวัด และควรเติมให้ปริมาณน้ำมันเครื่องอยู่ที่ระดับ “ F ” อยู่เสมอ เมื่อระดับน้ำมันเครื่องอยู่ในระดับที่ถูกต้องให้เสียบก้านวัดกลับเข้าที่แล้วปิดฝาช่องเติมน้ำมันเครื่องโดยใช้มือขันปิดให้แน่น

*1–เครื่องยนต์หัวฉีดบางรุ่นจะมีการเร่งรอบเดินเบาให้สูงกว่าปกติในขณะเครื่องยนต์เย็นเพื่ออุ่นเครื่องยนต์โดยอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,500 รอบ/นาที สัก 3-5 นาที ก็จะตัดมาที่รอบเดินเบาปกติ
–เครื่องยนต์ที่ไม่มีระบบเร่งรอบเดินเบาเพื่ออุ่นเครื่องยนต์ให้แตะคันเร่งไว้นิ่งๆที่ไม่เกิน 1,500 รอบ/นาที สักประมาณ 3 นาที
–ในรถยนต์บางรุ่นจะมีไฟเตือนอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นต่ำ (สีน้ำเงิน) จะติดขึ้นมาในขณะที่เครื่องยนต์เย็นให้รอจนกว่าไฟเตือนอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นต่ำดับลงเสียก่อน
–เมื่อถึงรอบเดินเบาปกติแล้วจึงทำการดับเครื่องยนต์ เพื่อรอการตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่องต่อไป

ข้อควรระวัง
1.ระมัดระวังอย่าไปสัมผัสถูกท่อร่วมไอเสียที่ร้อน
2.ระมัดระวังอย่าทำน้ำมันเครื่องหกลงบนชิ้นส่วนรถยนต์
3.ควรตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องที่ก้านวัดอีกครั้งหลังเติมน้ำมันเครื่องเสร็จแล้วน้ำมันเครื่องควรอยู่ที่ระดับ “ F ” 4.ฝาปิดช่องเติมน้ำมันเครื่องควรปิดให้แน่นโดยใช้มือขันปิด

การตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็น
ระดับน้ำหล่อเย็นควรมีการตรวจสอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับรถที่ใช้งานปกติ และหากเป็นรถที่ใช้งานหนักหรือวิ่งทางไกลอยู่เป็นประจำควรตรวจสอบทุกครั้งก่อนออกรถหรือทุกเช้าก่อนออกรถ

วิธีการตรวจสอบ
ให้ตรวจดูระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักขณะเครื่องยนต์เย็นลงแล้ว ระดับน้ำหล่อเย็นควรอยู่ระหว่างขีดระดับเต็ม “ FULL ” และ ขีดระดับต่ำ “ LOW ” ถ้าระดับน้ำหล่อเย็นต่ำกว่าขีด “ LOW ” ให้เติมน้ำยาหล่อเย็นจนถึงขีดระดับ “ FULL ” ควรใช้น้ำยาหล่อเย็นชนิดเดียวกับที่เติมอยู่ก่อน และหากน้ำยาหล่อเย็นไม่มีหรือหาไม่ได้ ก็สามารถหาน้ำกลั่นหรือน้ำประปาทั่วไปแทนได้แต่ขอให้เป็นน้ำที่สะอาดเท่านั้นก็สามารถเติมลงไปในถังพักน้ำหล่อเย็นได้ ซึ่งหลังจากนั้นให้สังเกตดูระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักสัก 1-2 วัน ดูว่าระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักลดลงผิดปกติหรือไม่ หากระดับน้ำหล่อเย็นลดลงถึงขีด “ LOW ” อีก หรือถ้าระดับน้ำหล่อเย็นลดลงผิดปกติหลังจากเติมเสร็จแล้ว แสดงว่าอาจเกิดการรั่วซึมภายในระบบให้ตรวจเช็คหม้อน้ำ, ท่อยางน้ำ, ฝาปิดถังพักน้ำหล่อเย็น, ฝาปิดหม้อน้ำ, ก๊อกถ่ายน้ำหล่อเย็นและปั๊มน้ำ หากตรวจสอบพบรอยรั่วหรือตรวจสอบไม่พบรอยรั่วก็ให้รีบนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อทำการตรวจสอบและแก้ไขต่อไป

ข้อควรระวัง
1. ควรตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นในขณะที่เครื่องยนต์เย็นลงแล้ว
2.ไม่ควรเปิดฝาหม้อน้ำตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นให้ตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นที่ถังพักน้ำหล่อเย็นเท่านั้น
3.ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนจัดเพราะจะได้รับอันตรายจากไอน้ำที่พุ่งออกมา
4.ถ้าน้ำยาหล่อเย็นกระเด็นไปถูกชิ้นส่วนอื่นๆ ต้องใช้น้ำล้างออก

หมวด การดูแลรักษารถ | จำนวนคนอ่าน 114239 ครั้ง | เมื่อ : 20 ม.ค. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

    แสดงความคิดเห็น (2)

  • ความเห็นที่ 1
  • ขอบคุณมากครับ
  • จาก : tong
  • เมื่อ : 2010-05-28 10:06:27
  • ความเห็นที่ 2
  • ยากทราบว่า ที่ถังพักหม้อน้ำหล่อเย็น ตรงฝาปิดมีน้ำเป็นตะกันเกาะอยู่ มาจากสาเหตุอะไรครับ
  • จาก : สมรักษ์
  • เมื่อ : 2010-07-18 22:06:47

เลือกซื้อสินค้าออนไลน์ Trumq