ปัจจุบันเรื่องของระบบความปลอดภัยในรถยนต์ มีข้อกำหนดที่จำเป็นว่าจะต้องมีระบบต่างๆที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันก่อนการเกิดอุบัติเหตุ หรือ ระบบปกป้องหลังเกิดอุบัติเหตุ ในการนี้ทางผู้เขียน จะขอนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่องถุงลมนิรภัยในรถยนต์ ว่ามีประเด็นสำคัญด้านของการทำงานอย่างไรนะครับผม.
เบื้องต้น ขอกล่าวถึง หน้าที่ของถุงลมนิรภัย ในขณะที่รถยนต์เกิดการชนอย่างรุนแรง ร่างกายส่วนบนของผู้โดยสารและ ผู้ขับขี่จะถูกเหวี่ยงไปทางข้างหน้าซึ่งจะตรงกับตำแหน่งของถุงลมนิรภัย ถุงลมนิรภัยจะมีการพองตัว ระหว่างศีรษะกับหน้าอกของผู้โดยสารและพวงมาลัย เป็นการช่วยปกป้อง พร้อมการดูดซับแรงกระแทกจากการชนไว้ ถุงลมนิรภัยเมื่อมีการพองตัวแล้วจะคงรูปไว้ชั่วขณะทันทีที่สัมผัสกับผู้โดยสาร แก๊สที่มีอยู่ภายในถุงลมหลังจากนั้นจะมีการระบายออกทางรูระบาย หลังจากที่มีการทำงานไปแล้ว
เมื่อรถยนต์เกิดการปะทะทางด้านหน้า เซ็นเซอร์ได้รับแรงปะทะจากการชน ถึงระดับที่กำหนดจะทำการส่งสัญญาณให้ถุงลมนิรภัยพองตัวออก โดยมีแก๊สไนโตรเจนที่อยู่ภายใน จะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในถุงลม การพองตัวและการยุบตัวของถุงลมนิรภัย ใช้เวลาประมาณ 0.2 วินาที
การทำงานของถุงลมนิรภัย จะมีการทำงานก็ต่อเมื่อความเร็วรถมากกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปและชนกับวัตถุที่มีความแข็ง เช่น กำแพงคอนกรีต ด้วยมุมการชนไม่เกิน 30 องศา ถุงลมนิรภัยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงาน ทุกครั้งที่มีการชนปะทะหรือเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ชนกับวัตถุที่ไม่แข็งแรง, ทิศทางการชน,ความเร็วรถยนต์ เป็นต้น
ไปต่อกันที่ ผลที่เกิดจากการพองตัวของถุงลมนิรภัย การสัมผัสกับชุดถุงลมนิรภัยที่พองตัว จะทำให้เกิดบาดแผลถลอกได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามแผลถลอกที่เกิดขึ้นจากการที่ชุดถุงลมนิรภัยทำงาน ก็ยังรุนแรงน้อยกว่าการบาดเจ็บจากการชนปะทะหรืออุบัติเหตุ เมื่อชุดถุงลมนิรภัยทำงานจะมีเสียงดังเกิดขึ้นและมีควันสีขาว แต่จะไม่ทำให้เกิดอันตรายมากนัก และไม่มีความเสี่ยงต่อประกายไฟ แต่ถึงกระนั้นให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับชุดถุงลมนิรภัย เพราะหลังจากที่มีการพองตัวแล้ว จะมีความร้อนสะสม ซึ่งอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้นะครับ
ข้อควรระวัง ที่ควรพึงกระทำ
• อย่างวางสิ่งของ เช่น น้ำหอม,ร่ม,และอื่นๆ บนแผงคอนโซลหน้า เพราะจะไปขวางทางการทำงาน (พองตัว) ของถุงลมนิรภัย
• ห้ามติดสติ๊กเกอร์ บนตำแหน่งการระเบิดของถุงลมนิรภัย
• ห้ามนั่งเอนตัวไปทางด้านหน้า
• ไม่นั่งใกล้กับพวงมาลัย และแผงคอนโซลมากเกินไป
• ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งและทุกที่นั่ง ตลอดการขับขี่หรือเดินทาง
ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นการกล่าวถึง ถุงลมนิรภัยทิศทางด้านหน้านะครับ ส่วนถุงลมนิรภัยในตำแหน่งอื่น ๆ นั้น สามารถศึกษาและทำความเข้าใจในรถรุ่นนั้น ๆ นะครับผม ท้ายนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ร่ำรวย แข็งแรง กันทุกท่านนะครับผม ขอขอบคุณและสวัสดีครับ
“ความปลอดภัย เกิดขึ้นได้ ด้วยตัวคุณ...เอง”
ฝ่ายฝึกอบรม
บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด (กรุงเทพฯ)