phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

อะไร? ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

หมวด การใช้รถ | จำนวนคนอ่าน 32265 ครั้ง | เมื่อ : 30 ก.ค. 2551 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

มนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมที่นำพาอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถยนต์  

 

หลายท่านก็เคยเกิดอุบัติเหตุ หลายท่านไม่เคยเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคงไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้นใช่ไหมครับ สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปขอให้เป็นแนวทางของการใช้รถใช้ถนน เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุครับ ลองติดตามกันไปพร้อมกันเลยครับ

 

รถยนต์
สภาพไม่พร้อมที่จะใช้งาน  ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนอะไหล่ตามอายุการใช้งาน ใช้อะไหล่ไม่ได้คุณภาพ (อะไหล่ปลอม ) ทำการเปลี่ยนหรือซ่อมอย่างไม่ถูกวิธี มีการตรวจพบข้อขัดข้องแล้วไม่ลงมือแก้ไขหรือซ่อม ( เอาไว้ก่อน ) อะไรทำนองอย่างนี้ เป็นต้น  แม้กระทั่งช่างซ่อมขาดความชำนาญ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีสูงมากที่มีในรถยนต์ ดังนั้นทักษะของช่างจะต้องมีความสามารถตามไป รวมถึงต้องมีเครื่องมือพิเศษรองรับเรื่องการซ่อมอีกด้วย บางระบบไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษก็แล้วไป ดังนั้นคงไม่มีใครต้องการที่จะให้รถยนต์ของตนเองมีปัญหาใช่ไหมครับ ขออนุญาตแนะนำว่าควรจะนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คอย่างน้อย ทุกๆ 5,000 กิโลเมตร ที่ศูนย์บริการ ส่วนจะตรวจเช็คอะไรบ้างนั้น ทางศูนย์บริการมีรายการที่จะต้องปฏิบัติทุกระยะทางไว้อยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ใช้รถน้อย ก็ให้ใช้ระยะเวลาเป็นตัวกำหนดของการเข้าเช็ค( ดูได้จากคู่มือการใช้รถ ) เพียงแค่นี้รถยนต์ก็พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

 

ผู้ขับขี่
สำคัญกว่าสิ่งใด เพราะว่ารถยนต์บังคับคนไม่ได้ แต่ คนบังคับรถยนต์ได้ การที่จะเกิดหรือไม่เกิดอุบัติเหตุนั้น สำคัญที่สุดคือ ผู้ขับขี่ ยิ่งมือใหม่ ยิ่งหวาดเสียว  ขนาดมือเก่ายังพลาดมีให้เห็นอยู่บ่อยไป  ขนาดนักแข่งรถฟอร์มูล่าวัน ยังเสียชีวิตเลย การขับรถยนต์ในแต่ละครั้ง ก็ต้องมีความระมัดระวังให้มาก ๆ ขอให้ตัวเราระวังของเราเองก่อน อย่างน้อยเราก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้อื่นเกิดอุบัติเหตุ ท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า “ระวังไม่ประมาทปลอดภัย”  สภาพของร่างกายผู้ขับขี่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ไม่สบายได้มีการกินยาแล้วมีอาการง่วงนอน มีอาการเมา อะไรทำนองนี้ขนาดหลับคาไฟแดง ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย เป็นต้น การขับขี่อย่างมีมารยาท มีน้ำใจ ก็ช่วยลดอุบัติเหตุได้ดังนั้น ผู้ขับขี่ ขอย้ำสำคัญที่สุด

 

สภาพอากาศ
อย่างในกรณีฝนตก ก็ต้องดูว่าฝนตกน้อย ฝนตกมาก หรือ ฝนตกมากที่สุด ทำไมถึงใช้คำนี้ก็เพราะว่าฝนตกในบางครั้งนั้นหนักมากจริงๆ ฝนตกน้อยก็ยังขับรถยนต์ต่อไปได้  ถ้าฝนตกมาก ในที่นี้หมายความว่าเปิดปัดน้ำฝนเบอร์สูงสุดแล้วยังเห็นทางข้างหน้า ก็ยังพอขับต่อไปได้  แต่ถ้าฝนตกหนักมากที่สุด ก็ไม่ควรขับรถยนต์ต่อไปถึงแม้ว่าจะมีเส้นทางที่ปลอดภัยก็ตาม แล้วยิ่งถ้าเป็นตอนกลางคืนด้วย ก็ไม่ควรขับรถยนต์ต่อไป หาที่จอดในที่ปลอดภัยก่อนออกเดินทางฟังพยากรณ์อากาศล่วงหน้ายิ่งดียิ่งขึ้น  สภาพอากาศในเมืองไทยเปลี่ยนแปลงบ่อยดังนั้น หากมีสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ควรเดินทางต่อไป

 

สภาพเส้นทาง
ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนใหญ่ จะชอบทางลาดยาง ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อรถยนต์เคลื่อนที่ไปแล้วจะไม่มีเสียงรบกวนเข้าห้องโดยสารเสียงของยางสัมผัสพื้นถนนจะเงียบ จะเกิดเสียงน้อยกว่าพื้นคอนกรีตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ว่าจะลาดยางหรือ คอนกรีตมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป เช่น ถนนลาดยางจะเงียบ ถนนคอนกรีตดังมากกว่าถนนลาดยางเวลาเบรกใช้ระยะทางในการหยุดรถมาก ถนนคอนกรีตเวลาเบรกใช้ระยะทางในการหยุดรถน้อย ถนนลาดยางเวลาฝนตกจะมีความลื่นมาก ถนนคอนกรีตเวลาฝนตกมีความลื่นน้อยกว่า เป็นต้น ในบางครั้งอาจจะเจอสภาพของถนนนอกเหนือไปจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น ดิน,โคลน,ลูกรัง,น้ำท่วม และอื่น ๆ ดังนั้นสภาพของเส้นทางก็มีส่วนของอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน

 

ผู้ร่วมเส้นทาง
สำหรับผู้อื่น หากใช้รถใช้ถนน อย่างไม่มีความระมัดระวัง ย่อมนำพาให้ผู้อื่นเกิดอุบัติเหตุได้ ถึงแม้ว่าผู้ใช้เส้นทางนั้น จะไม่เกิดอุบัติเหตุด้วยก็ตาม แต่เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมนุษย์ สมมุติรถยนต์ขาดการบำรุงรักษา แล้วนำมาใช้ เกิดการขัดข้องกลางถนน ทำให้ผู้ร่วมเส้นทางได้รับความเดือดร้อน เช่น รถติดหรือบางครั้งเกิดการชนเกิดขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ , ผู้ขับขี่ , คนเดินเท้ามีส่วนในการเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น ถึงแม้เราจะขับรถยนต์ดีแล้วก็ตาม

 

อื่น ๆ
ได้แก่ ไฟจราจรมีการเกิดชำรุด จากแยกไฟแดงกลายเป็นแยกวัดใจ ใครกล้าได้ไปก่อน ขนาดไฟจราจรปกติยังฝ่าไฟแดงกันบ่อยไป ต่อไปก็พวกสุนัขหรือสัตว์อย่างอื่น ก็เป็นสาเหตุได้เช่นเดียวกันในศีล 5 ข้อแรกระบุไว้ว่า ห้ามฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่จังหวะขับรถแล้วเกิดเหตุกะทันหันลองคิดดูว่าท่านจะทำอย่างไร  “ถ้าเขารอด  แต่เราแย่”  ซึ่งจะเข้าทำนองว่า  “เอ็นดูเขา  เอ็นเราขาด”  ดังนั้นสัญชาตญาณของมนุษย์หรือผู้ขับขี่ ก็ต้องเอาตัวเองรอดอยู่แล้ว แต่ผู้โดยสารอื่นไม่รู้

 

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น เป็นเพียงบางส่วนที่นำพาอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น ยังมีอีกมากมาย ถึงแม้ไม่ได้ครอบคลุมได้ทั้งหมด  แต่ผู้อ่านก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนทางด้าน ดวงชะตานั้นก็มีส่วน แต่เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่อย่าลบหลู่กันนะครับ อย่าลืมนะครับ ชิ้นส่วนรถยนต์มีอะไหล่แท้ แต่ร่างกายมนุษย์ไม่มีของแท้นะครับ ท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านสุขภาพแข็งแรงและร่ำรวยถ้วนหน้าครับ
  

 

ไม่ทำ ไม่นำพา ที่มาของอุบัติเหตุ
แผนกเทคนิคและฝึกอบรม
บริษัท พิธานพาณิชย์จำกัด (กรุงเทพฯ)
 

หมวด การใช้รถ | จำนวนคนอ่าน 32265 ครั้ง | เมื่อ : 30 ก.ค. 2551 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

    แสดงความคิดเห็น (1)

  • ความเห็นที่ 1
  • สุดยอด โคราช770
  • จาก : น้อJ ต่าe
  • เมื่อ : 2011-01-04 09:16:36

NEW bZ4X ราคาเริ่มต้น 1,836,000 บาท