ฤดูฝนนั้นเป็นฤดูที่ให้ความชุ่มชื้น และสามารถคลายความร้อนได้ดีทีเดียวครับ หากเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน แต่ถ้าฝนตกในวันที่เราจะต้องเดินทางไปทำงาน หรือเดินทางออกต่างจังหวัดนั้น ผู้ขับขี่บางท่านอาจจะไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ เนื่องจากอาจจะเพิ่งล้างรถมาใหม่ ๆ แล้วต้องมาขับลุยฝนทำให้รถที่ล้างมาใหม่ ๆ นั้น เปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝน แถมยังมีคราบสกปรกจากพื้นถนนที่กระเด็นมาจับกับสีรถให้เลอะเทอะไม่น้อย แต่ก็คงห้ามฟ้าห้ามฝนไม่ได้ สิ่งที่ทำได้หรือป้องกันได้คือ ความปลอดภัยในการขับขี่นั่นเอง ซึ่งเมื่อฝนตกถนนก็จะเปียกชื้น ทำให้หน้าสัมผัสของยาง ไม่สามารถยึดเกาะถนนได้ดีเท่าที่ควร ทัศนวิสัยในการมองเห็นก็ไม่ดี อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น ดังนั้นในครั้งนี้ทางผู้เขียนจึงจะมาแนะนำถึงวิธีการขับขี่อย่างไรให้ปลอดภัยในขณะที่ฝนตก
1.เปิดไฟหน้า สำหรับทัศนวิสัยในการขับรถช่วงฝนตกนั้น คงหนีไม่พ้นสภาพอากาศที่มืดครึ้มมีแสงน้อยครับ และเมื่อฝนตกลงมาหนักขึ้น ทัศนวิสัยในการมองเห็นของเราก็จะยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นแล้วเพื่อให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นดีขึ้น เราควรเปิดไฟหน้าเพื่อให้เห็นเส้นทาง รวมถึงเมื่อมีรถที่วิ่งสวนทางมาก็จะได้เห็นรถของเราด้วย ช่วยทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้ ส่วนรถที่ขับตามหลังเรามาก็เช่นกัน เมื่อเราเปิดไฟหน้าแล้วไฟท้ายก็จะติดขึ้นด้วย ทำให้รถที่ตามหลังมาได้เห็นตำแหน่งรถของเราด้วยนั่นเองครับ
2.ใช้ความเร็วให้เหมาะสม เนื่องจากขณะที่ฝนกำลังตก อาจทำให้มีน้ำท่วมขังบนพื้นถนน หากเราขับรถด้วยความเร็วสูง อาจจะทำให้รถเกิดอาการเหินน้ำได้ครับ เนื่องจากดอกยางไม่สามารถรีดน้ำได้ทัน เนื่องจากมีน้ำท่วมขังอยู่บนพื้นถนนจำนวนมาก รถของเราอาจเสียการทรงตัว จนทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้ และในลักษณะเดียวกัน การขับรถด้วยความเร็วสูง หากเกิดเหตุกะทันหันแล้ว ทำให้เราต้องเหยียบเบรกอย่างรวดเร็ว ระยะในการหยุดของรถอาจจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากถนนที่เปียกและมีน้ำท่วมขัง จะทำให้ยางรถยนต์สัมผัสกับถนนได้น้อยลง จึงทำให้ระยะในการหยุดรถยาวขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ความเร็วสูงเกินไป ในการขับรถขณะที่ฝนตก เพื่อความปลอดภัยของเราและคนอื่น
3.การเว้นระยะห่างจากรถคันหน้า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในขณะฝนตก พื้นถนนอาจจะมีน้ำท่วมขังและเปียกชื้น ซึ่งจะทำให้ระยะในการเบรกและหยุดรถของเรานั้น มีระยะทางที่ยาวมากกว่าพื้นถนนที่แห้งครับ ดังนั้นในการที่เราขับรถใกล้กับรถคันหน้า เหมือนกับการขับรถบนถนนที่แห้งปกตินั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะเมื่อรถคันหน้ามีการเบรกอย่างกะทันหัน รถของเราก็ต้องเบรกอย่างกะทันหันไปด้วย ซึ่งตรงนี้อาจทำให้รถของเราเสียการทรงตัวหรือหยุดไม่อยู่ แล้วไปชนท้ายของรถคันหน้าได้ ดังนั้นจึงควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้า ประมาณ 20 เมตรเป็นอย่างน้อย โดยหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เราจะได้หยุดรถของเราได้อย่างปลอดภัย
4.ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน ในขณะที่ฝนตกหนักมีบางท่านเข้าใจว่า ต้องเปิดไฟฉุกเฉินขณะขับรถ เพื่อให้รถคันอื่นสังเกตเห็นรถของเค้าได้อย่างชัดเจน แต่ในความจริงแล้ว การทำแบบนั้นค่อนข้างจะเป็นอันตราย เพราะหากเราเปิดไฟฉุกเฉิน ขณะขับรถอยู่ที่เลนขวาสุด รถคันที่ขับตามเรามาห่าง ๆ อาจจะเข้าใจว่ารถเราจอดอยู่ไหล่ทาง แล้วทำการแซงขวาไป ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ กับรถคันที่จะขับแซงรถของเราไปได้ หรือในกรณีที่ขับผ่านทางแยก ผู้ที่จอดรถรออยู่ที่ด้านซ้ายหรือด้านขวาของทางแยก อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเราจะเลี้ยว ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้ไฟใหญ่ในขณะที่ฝนตก ก็น่าจะเพียงพอต่อการให้รถคันอื่นเห็นแล้ว หรือในกรณีที่รถของเรามีไฟตัดหมอกอยู่ ก็สามารถเปิดไฟตัดหมอกช่วยได้เช่นกัน แต่ถ้าหากรถของเราเสียหรือไม่สามารถขับต่อไปได้ โดยที่เราได้จอดรถที่ข้างทางหรือไหล่ทางเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้สามารถเปิดไฟฉุกเฉินได้ เพื่อเตือนให้รถที่ขับรถผ่านไปผ่านมาได้ใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น
5.เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวให้เร็วกว่าปกติ ในสภาพอากาศปกติทั่วไป เราควรเปิดไฟเลี้ยวก่อนถึงตำแหน่งที่จะเลี้ยว ไม่น้อยกว่า 30 เมตรครับ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ฝนตกและทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง เราควรเปิดไฟเลี้ยวให้เร็วขึ้น โดยควรเปิดไฟเลี้ยวก่อนถึงตำแหน่งที่จะเลี้ยวประมาณ 60 เมตร เพื่อให้รถคันที่ขับตามเรามา ได้มีเวลาในการลดความเร็ว เพื่อป้องกันการเบรกอย่างกะทันหันและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และมีอีกประการหนึ่งที่สำคัญ สำหรับรถยนต์ที่มีการใช้งานมาเป็นเวลานาน เนื่องจากโคมไฟเลี้ยวอาจหมองหรืออาจจะมีคราบฝุ่นเกาะอยู่ ซึ่งทำให้แสงของไฟเลี้ยวไม่ค่อยสว่าง ทำให้มองไม่เห็นไฟเลี้ยวในระยะไกล ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ขอแนะนำให้ทำความสะอาดหรือถ้าทำความสะอาดไม่ได้ก็ควรเปลี่ยนใหม่ไปเลยครับ
6.เปิดสวิทช์ปัดน้ำฝน ควรใช้ระดับความเร็วของการปัดน้ำฝน ให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งรถยนต์ในปัจจุบันสามารถปรับความเร็วของก้านปัดน้ำฝนได้หลายระดับ โดยในการปรับระดับของการปัดน้ำฝนนั้น หากเราปรับระดับไม่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา เช่น ฝนตกโปรย ๆ แล้วเราเปิดที่ปัดน้ำฝนด้วยความเร็วสูงสุด อาจทำให้กระจกรถเป็นรอย และยางปัดน้ำฝนเกิดความเสียหายได้ เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่มีน้ำมาหล่อลื่นตัวยางปัดกับกระจกนั่นเอง หรือในทางกลับกันขณะที่ฝนกำลังตกหนัก หากเราเปิดที่ปัดน้ำฝนด้วยความเร็วต่ำ ก็จะทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี จะมองเห็นได้แค่ระยะใกล้ ๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นในการปรับระดับความเร็วของก้านปัดน้ำฝน จึงควรปรับให้สัมพันธ์กับปริมาณของฝนที่กำลังตกอยู่ก็น่าจะทำให้เกิดความปลอดภัยที่สุด
7.น้ำฉีดกระจก ในขณะที่ฝนเริ่มตกใหม่ ๆ น้ำที่กระเด็นมาจากรถคันหน้า จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับน้ำโคลน ซึ่งในกรณีนี้เมื่อเราเปิดที่ปัดน้ำฝน เพื่อทำการปัดน้ำโคลนออกไปนั้น อาจจะทำให้ปัดออกไปได้ไม่หมด เนื่องจากคราบนั้นจะมีความหนืดของโคลนรวมอยู่ด้วย เราจึงควรใช้การฉีดน้ำล้างกระจกร่วมด้วย เพื่อช่วยให้คราบโคลนเหล่านั้นหลุดออกไปได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือไม่ควรฉีดน้ำล้างกระจก ในขณะที่ขับรถด้วยความเร็วสูงอยู่ เพราะอาจทำให้มองเส้นทางได้ไม่ชัดเจน จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
8.รถลื่นไถลหรือเหินน้ำ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่รถมีอาการเหินน้ำนั้น ขอให้ผู้ขับขี่ตั้งสติและทำการถอนคันเร่ง โดยพยายามประคองพวงมาลัยให้รถอยู่ในเส้นทาง แล้วค่อย ๆ ลดความเร็วลงโดยการเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำ ซึ่งทำได้จากการไล่เกียร์จากเกียร์สูงลงมาที่เกียร์ต่ำ เช่น จากเกียร์ 4 ลงมาที่เกียร์ 3 ลงมาที่เกียร์ 2 และลงมาที่เกียร์ 1 หรือจนกว่ารถจะทรงตัวได้ ห้ามเหยียบเบรกเด็ดขาด เพราะหากเราเหยียบเบรก ล้อรถจะหยุดหมุนทันทีในกรณีทีไม่มี ABS ทำให้รถเสียการทรงตัวและเสียหลัก อาจทำให้เกิดการพลิกคว่ำได้ ส่วนรถที่มี ABS ก็อาจจะเกิดการหมุนหรือเสียการควบคุมรถได้
9.สังเกตป้ายจราจรบนท้องถนน ป้ายจราจรบนท้องถนนเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่จะช่วยให้เราขับรถได้อย่างปลอดภัยครับ หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่ค่อยได้สังเกต หรือไม่ค่อยได้สนใจป้ายจราจรสักเท่าไหร่ แต่จริง ๆ แล้วป้ายจราจรต่าง ๆ เหล่านั้น ได้ติดตั้งไว้เพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ได้ทราบถึงสภาพเส้นทางของถนนข้างหน้า ว่ามีสภาพเส้นทางที่เป็นอย่างไร เช่น เป็นทางโค้ง เป็นทางแยก ทางขึ้นเขา ทางลงเขา ป้ายเตือนทางรถไฟ และป้ายเตือนอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเราขับรถในช่วงที่ฝนกำลังตกหนักอยู่นั้น การมองเห็นถนนข้างหน้าจะมองเห็นได้ไม่ไกลนัก ดังนั้นหากเราได้สังเกตป้ายจราจรต่าง ๆ ที่อยู่ตามข้างถนนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็จะทำให้เราทราบถึงสภาพเส้นทางข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เราได้เพิ่มความระมัดระวัง ในการควบคุมรถให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุด
10.ฟังข่าวสารจากสถานีวิทยุ เนื่องจากในช่วงฤดูฝน อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนท้องถนนได้บ่อยครั้ง หรืออาจเกิดน้ำท่วมขังในเส้นทางต่าง ๆ ทำให้ถนนหลายสายมีการจราจรที่ติดขัด ดังนั้นหากเราได้รับรู้ข่าวสารล่วงหน้าก่อนแล้ว เราอาจจะวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทาง ที่มีอุบัติเหตุหรือน้ำท่วมได้ เพื่อให้ไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
11.อย่าขับรถในขณะที่ร่างกายอ่อนล้า ในขณะที่ฝนตก อากาศจะเย็นสบายมากครับ บวกกับแอร์ในรถที่เย็นอยู่แล้ว ทำให้บรรยากาศยิ่งน่านอนไม่น้อย ซึ่งหากเราต้องขับรถไปในระยะทางไกล ๆ บวกกับความเหนื่อยล้าที่มีอยู่ ก็อาจทำให้เราหลับในได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นแล้วเพื่อป้องกันการหลับใน เราอาจจะต้องหาเพลงที่สนุก ๆ เปิดฟัง หรือหาขนมมาขบเคี้ยว หรือชวนเพื่อนคุย (ถ้ามีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย) เพื่อให้เกิดการตื่นตัว และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับรถทางไกล เราควรหยุดพักรถทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือทุก ๆ 100 กิโลเมตร เพื่อที่จะได้ออกมายืดเส้นยืดสาย ให้ร่างกายได้ผ่อนคลายสัก 10 -15 นาที เมื่อรู้สึกว่าสดชื่นแล้วจึงค่อยเดินทางต่อไปครับ
แนวทางในการป้องกัน ที่ทางผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทางผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อย เพราะอุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เลือกว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก่า แต่ถ้าเราทราบถึงวิธีการป้องกัน บวกกับการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่าอุบัติเหตุจะลดลง และอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี เดินทางไปไหนมาไหนก็ขอให้ปลอดภัย แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ตรวจเช็ครถ ต้อนรับฤดูฝน
ขับรถผ่านน้ำท่วมอย่างไรให้ปลอดภัย
ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.freepik.com