การใช้เกียร์อัตโนมัติ
1. การเลือกใช้ตำแหน่งคันเกียร์
1.1 การเลือกใช้ตำแหน่ง N ไปที่ตำแหน่ง R และ P หรือเลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่ง 2ไปที่ตำแหน่ง 1 (หรือ L) ดังที่แสดงด้วยลูกศร จะต้องกดปุ่มปลดล็อคที่คันเกียร์ก่อนจึงจะสามารถเลื่อนคันเกียร์ไปตามตำแหน่งที่กล่าวมาแล้วได้
1.2. การเลื่อนคันเกียร์ระหว่าง N , D และ 2 ไม่ว่าจะเป็นต้องกดปุ่มปลดล็อคที่คันเกียร์
หมายเหตุ รถยนต์บางยี่ห้ออาจต้องมีการปลดล็อคก็ได้
สำคัญ !
1.3 การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จากเกียร์เดินหน้าไปเป็นเกียร์ถอยหลัง หรือจากเกียร์ถอยหลังไปเป็นเกียร์เดินหน้า ควรให้รถยนต์หยุดนิ่งเสียก่อน (เหยียบคันเหยียบเบรคไว้) จึงเปลี่ยน
1.4 ควรเลือกใช้ตำแหน่งคันเกียร์ให้ตรงตามสภาพการขับขี่ และลักษณะของถนน
- ตำแหน่ง P (parking) หมายถึงตำแหน่งเกียร์จอด ใช้สำหรับการจอดรถยนต์ ณ.ที่จอดรถโดยจะใช้พร้อมกับการดึงเบรคมือ
- ตำแหน่ง R (reverse) หมายถึงตำแหน่งเกียร์ถอยหลัง
- ตำแหน่ง N (neutra) หมายถึงเกียร์ว่าง
- ตำแหน่ง D (drive) หมายถึงตำแหน่งเกียร์เดินหน้าปกติ ในตำแหน่งนี้เกียร์จะเปลี่ยน ขึ้นหรือลงได้เองโดยอัตโนมัติ จากเกียร์ 1,2,3 และ 4 หรือจากเกียร์ 4,3,2 และ1ได้ตามลำดับ
- ตำแหน่ง 2 หมายถึง ตำแหน่งเกียร์เดินหน้า ซึ่งเกียร์จะสามารถเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้เพียง 2 ตำแหน่งเกียร์เท่านั้น 1 และเกียร์ 2 เหมาะสำหรับสภาพถนนที่เป็นทางลาดชัน ขึ้นหรือลงเขาในตำแหน่งเกียร์นี้จะอาศัยการเบรกด้วยเครื่องยนต์ได้
- ตำแหน่ง L (low) หมายถึงเกียร์เดินหน้า ซึ่งเกียร์จะทำงานในตำแหน่งเกียร์ 1 เพียงเกียร์เดียวเท่านั้น เหมาะสำหรับการขับขี่ที่ต้องการแรงบิดจากเครื่องยนต์อย่างมาก หรือในสภาพถนนที่มีความลดชัน ขึ้นหรือลงเขา จะสามารถอาศัยการเบรกด้วยเครื่องยนต์ได้
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งคันเกียร์ของรถยนต์บางยี่ห้ออาจตำแหน่งนอกเหนือจากที่กล่าวมา แล้วก็มีเช่น
ก. P,R,N,D,3,2 และ1
ข. P,R,N,D4,D3 และ 2
จากข้อ ก. จะมีตำแหน่ง 3 เพิ่มขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตำแหน่งเกียร์สามารถเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้โดยอัตโนมัติเพียง 3 ตำแหน่งเกียร์เท่านั้น คือจากเกียร์ 1,2 และ 3 หรือจากเกียร์ 3,2 และ 1 ตามลำดับส่วนตำแหน่ง 1 จะมีการทำงานเหมือนกับตำแหน่ง L
จากข้อ ข. จะมีตำแหน่ง D3 เพิ่มขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตำแหน่งเกียร์สามารถเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้โดยอัตโนมัติเพียง 3 ตำแหน่งเกียร์เหมือนกับตำแหน่ง 3 ในข้อ ก. ส่วนตำแหน่ง D4จะมีการทำงานเหมือนกับตำแหน่ง D
2. การใช้เกียร์อัตโนมัติอย่างถูกต้อง
การใช้เกียร์อัตโนมัติอย่างถูกต้องควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
2.1 ก่อนทำการติดเครื่องยนต์ ต้องเลื่อนคันเกียร์ให้มาอยู่ที่ตำแหน่ง N หรือ P เท่านั้นเพราะในตำแหน่งอื่น ๆ จะไม่สามารถบิดสวิตซ์กุญแจเพื่อเครื่องยนต์ให้หมุนได้ (เป็นระบบความปลอดภัยของการ ใช้เกียร์อัตโนมัติ)
2.2. สวิตช์โอเวอร์ไดรฟ์ควรอยู่ในตำแหน่ง ON เสมอ ทั้งนี้เพื่อความประหยัดเชื้อเพลิงและช่วยลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ลงได้ (ในกรณีที่ขับขี่ในสภาพการจราจรปกติ)
2.3. ไม่ควรเหยียบคันเร่งขณะที่กำลังเลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่ง N ไปยังตำแหน่ง D
2.4 ไม่ควรเลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่ง D ไปยังตำแหน่ง 2 หรือ 1 ทันทีทันใด เมื่อรถยนต์กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงมาก ๆ (ประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป) เพราะอาจทำให้รถเสียการทรงตัว ล้อลื่นไถล และเกียร์อัตโนมัติอาจชำรุดเสียหายได้ (อายุการใช้งาน)
2.5. เมื่อขับรถยนต์ขึ้นทางลาดชันหรือต้องใช้แรงฉุดมาก ๆ ให้เลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง 2 หรือ L ตามความเหมาะสม แต่ควรเปลี่ยนตำแหน่งของคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง D บ้าง เพื่อป้องกันเกียร์อัตโนมัติร้อนจัด อันเนื่องมาจากต้องทำงานหนักมาก
2.6. ขณะที่เลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง R ควรเหยียบคันเหยียบเบรกไว้ด้วยเพื่อป้องกันชิ้นส่วนภายในกระปุกเกียร์ชำรุดหรือสึกหรอเร็ว (บางกรณีรถอาจไม่หยุดนิ่ง)
2.7. การจอดรถยนต์ ควรเหยียบคันเหยียบเบรกให้รถยนต์หยุดสนิท ดึงเบรกมือและเลื่อนคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง P อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเลื่อนคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง P เมื่อรถยนต์กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูงเพราะอาจทำให้ชิ้นส่วนภายในกระปุกเกียร์ชำรุด และเกิดอันตรายจากการที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้
2.8. ในกรณีที่เกียร์มีการเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นหรือลงกลับไปกลับมาระหว่างเกียร์ 3 และเกียร์โอเวอร์ไดรฟ์บ่อย ๆ ครั้ง ควรกดสวิตช์โอเวอร์ไดรฟ์ให้อยู่ตำแหน่ง OFF
2.9. ไม่ควรใช้ตำแหน่งเกียร์โอเวอร์ไดรฟ์ ( on ) เมื่อต้องมีการลากจูงรถยนต์อื่น
2.10. ไม่ควรจอดรถยนต์ไว้บนทางลาดชัน โดยวิธีเหยียบคันเร่งไว้เล็กน้อย เมื่อคันเกียร์อยู่ในตำแหน่ง D เพราะอาจทำให้เกียร์อัตโนมัติร้อนจัดได้ ควรเปลี่ยนมาใช้วิธีเหยียบคันเหยียบเบรกหรือดึงเบรกมือแล้วเลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง N แทน
2.11. ถ้าหลอดไฟเตือน O/D OFF กะพริบเตือน แสดงว่ามีปัญหาเกิดขึ้นภายในเกียร์อัตโนมัติไม่ควรใช้รถยนต์ต่อไปในระยะทางที่ไกลมาก ๆ ควรตรวจหาสาเหตุหรือนำเข้าศูนย์บริการ
2.12. ขณะจอดติดไฟแดง หรือจอดอยู่ที่อาจมีรถอื่นมาชนได้ ไม่ควรเข้าเกียร์ P เพราะถ้าถูกชนแล้วอาจทำให้เกียร์ชำรุดได้
*** กรณีที่จอดรถและให้มีการเลื่อนรถได้ขณะจอดรถทิ้งไว้ เช่น ห้างสรรพสินค้าโรงภาพยนต์ ควรปฎิบัติดังนี้ ควรเหยียบคันเหยียบเบรกให้รถยนต์หยุดสนิทเลื่อนคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง P ดับเครื่องยนต์ กดปุ่ม shift lock (บริเวณโคนเกียร์) เลื่อนตำแหน่ง เกียร์ P มายังตำแหน่ง N
3. การตรวจสอบระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ
การตรวจสอบระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ ควรตรวจสอบขณะที่กระปุกเกียร์และน้ำมันเกียร์มีอุณหภูมิการทำงานปกติ (ประมาณ 70 ถึง 80 องศาเซลเซียล) หรือให้รถยนต์วิ่งมาแล้วไม่น้อยกว่า15 ถึง 20 กก. แต่ถ้าวิ่งมาแล้วด้วยความเร็วสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ สภาพการจราจรติดขัดอากาศร้อนจัด บรรทุกน้ำหนัก
มาก หรือลากจูงรถยนต์คันอื่นมา ก่อนทำการตรวจสอบระดับน้ำมันเกียร์ จะต้องดับเครื่องทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีเสียก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการตรวจสอบตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
3.1. จอดรถยนต์ไว้บนพื้นราบและดึงเบรคมือไว้
3.2. ทำการติดเครื่องยนต์ ให้ติดเดินเครื่องเบา และเหยียบเบรกไว้ แล้วเลื่อนคันเกียร์จากตำแหน่ง P ไปยังตำแหน่ง R,N,D,2 และ L ตามลำดับและให้เลื่อนกลับมาที่ตำแหน่ง P ตามเดิมแล้วดึงก้านเหล็กวัดระดับน้ำมันเกียร์ออกมาตรวจสอบ ระดับน้ำมันเกียร์ควรจะอยู่ในช่วงขีด HOT และควรสังเกตสีของน้ำมัน
เกียร์ด้วยว่ามีสีผิดปกติหรือไม่
3.3. ทำความสะอาดก้านเหล็กวัดระดับน้ำมันเกียร์ด้วยผ้าสะอาดและไม่ควรมีขนหรือเศษใยผ้า
3.4. นำก้านเหล็กวัดระดับน้ำมันเกียร์สอดเข้าที่เดิม และควรดันเข้าให้สุดเพื่อป้องกันน้ำเข้าได้
3.5. การตรวจระดับน้ำมันเกียร์ขณะที่เครื่องยนต์เย็นก็สามารถทำได้ โดยให้ตรวจสอบที่ช่วงCOOLของก้านเหล็กวัด และเพื่อความแน่นอนควรตรวจขณะเครื่องยนต์ร้อนในช่วง HOT อีกครั้ง
3.6. น้ำมันเกียร์ที่พร่องให้เติมเพิ่มโดยใช้กรวยที่สะอาดรองเติม น้ำมันเกียร์ที่ใช้ควรใช้ให้ถูกต้องตามคู่มือประจำรถยนต์แนะนำ
3.7. ตรวจดูรอยรั่วของน้ำมันเกียร์รอบ ๆ กระปุกเกียร์ ซึ่งอาจเกิดจากซีลน้ำมันบางตัวหรือประเก็นชำรุด และตรวจหารอยร้าวของกระปุกเกียร์ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็งเช่นก้อนหินขนาดใหญ่ด้วย
4. การติดเครื่องยนต์ด้วยวิธีเข็นรถยนต์
การติดเครื่องยนต์ด้วยวิธีเข็นรถยนต์ ในกรณีที่แบตเตอรี่ (batterry) หมดประจุหรือ มอเตอร์สตาร์ต (motor start) ไม่ทำงาน สำหรับรถยนต์ที่ใช้เกียร์ธรรมดาจะสามารถทำได้ แต่ในรถยนต์ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ การติดเครื่องยนต์ด้วยวิธีเข็นรถยนต์เหมือนกับรถยนต์ใช้เกียร์ธรรมดา กำลังงานจากล้อขับของรถยนต์จะไม่สามารถส่งผ่านชุดเฟืองเปลี่ยนอัตราทดไปยังทอร์คคอนเวอร์เตอร์ และเครื่องยนต์ได้ ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อเครื่องยนต์ไม่ทำงาน ปั้มน้ำมันของระบบควบคุมไฮดรอลิกก็จะไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถส่งกำลังงานจากล้อขับของรถยนต์ไปยังเครื่องยนต์ได้ ดังนั้นการติดเครื่องยนต์ด้วยวิธีเข็นรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติจึงไม่สามารถทำได้
5. วิธีการลากจูงรถยนต์ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ วิธีการลากจูงรถยนต์ที่ใช้เกียร์อัตโนมัติในกรณีที่เครื่องยนต์เกิดขัดข้องไม่ทำงานปั๊มน้ำมันก็จะไม่ทำงานด้วย มีผลให้ระบบควบคุมไฮดรอลิกไม่สามารถทำงานได้ดังนั้นกำลังดันหล่อลื่นที่ใช้หล่อลื่นชิ้นส่วนภายในเกียร์อัตโดนมัติจึงไม่มีจะมีเพียงแต่น้ำมันเกียร์บางส่วนที่ตกค้างหรือจับชิ้นส่วนเป็นฟิล์มบาง ๆ เป็นตัวช่วยหล่อลื่นชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องลากจูงรถยนต์จึงควรปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้
5.1 ให้ปลดเบรกมือของรถยนต์ที่ถูกลากจูง
5.2 ปิดสวิตซ์กุญแจให้อยู่ตำแหน่ง OFF (ห้ามดึงลูกกุญแจออก) เพื่อป้องกันไม่ให้พวงมาลัยถูกล็อคและอาจจะปิดไปที่ตำแหน่ง ON บ้างเป็นบางครั้งคราวเมื่อต้องการเปิดไฟเลี้ยว
5.3 ความเร็วของรถยนต์ที่ใช้ลากจูงไม่ควรเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5.4 ระยะทางที่ลากจูงไปไม่ควร เกิน 60 ถึง 80 กิโลเมตร ถ้ามีระยะทางมากเกินไปควรปฏิบัติดังนี้
- ถ้าเป็นรถยนต์ที่ขับด้วยล้อหลัง ควรถอดเพลากลางออก
- ถ้าเป็นรถยนต์ที่ขับด้วยล้อหน้า ให้ใช้วิธีลากโดยการยกล้อหน้าให้ลอยพ้นพื้นถนน