ช่วงนี้มีฝนหลงฤดูเข้ามาทำให้แผนกเทคนิคคิดถึงการเตรียมรถสำหรับหน้าฝน จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ การใช้รถในฤดูฝนและฝนหลงฤดู มาให้ผู้ที่แวะชม Web Site ของเราได้เตรียมพร้อม รับมือกับฤดูฝน โดยการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ว่าพร้อมหรือไม่สำหรับหน้าฝนนี้
อันดับแรก เรามาตรวจสอบดู ใบปัดน้ำฝน ของเราก่อน ว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่ซึ่งโดยปกติหากนำรถเข้าตรวจเช็กที่ศูนย์บริการ จะมีการตรวจสอบจากช่างเทคนิคอยู่แล้วในทุกระบบ แต่ถ้าหากผู้ใช้รถไม่ได้นำรถเข้ามา ตรวจเช็กตามระยะ ท่านสามารถที่จะตรวจดูได้ตัวท่านเองโดยสังเกต ดูว่า ใบปัดน้ำฝนแห้งกรอบหมดสภาพหรือไม่ ต้องแน่ใจว่าใบปัดน้ำฝนสามารถปัดสิ่งสกปรกบนกระจก หน้ารถได้หมดจด โดยเมื่อปัดแล้วจะต้องไม่เป็นเส้นหรือหลงเหลือ คราบน้ำเอาไว้ และไม่ควรจะมีเสียงดัง หากมีอาการดังกล่าวก็ควรจะเปลี่ยนใบปัดน้ำฝนได้แล้ว
อันดับที่สอง เรามาตรวจสอบดู ยางรถยนต์ กัน ยางรถยนต์ควรอยู่ในสภาพที่ดี มีดอกยางที่ยังสามารถรีดน้ำได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานไม่ควรเกิน 2 ปี หรือ 50,000 กม. เพราะถ้ายางที่มีอายุมากกว่านี้เนื้อยางอาจจะแข็งกระด้าง ทำให้การยึดเกาะถนนไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจเกิด การลื่นไถลได้หากต้องเบรกรถแรงๆ ในส่วนของลมยางก็มีความสำคัญไม่น้อยควรมีการตรวจสอบลมยาง ให้อยู่ในค่าที่คู่มือการใช้รถระบุไว้เสมอ เพราะถ้าลมยางอ่อนเกินไปจะมีผลต่อการกินยาง, กินน้ำมันเชื้อเพลิง และยังมีผลต่อการวิ่งลุยน้ำ เนื่องจากในขณะที่วิ่งบนถนนที่นองด้วยน้ำ สันยางตรงกลางจะเป็นร่อง ซึ่งจะอุ้มน้ำเอาไว้แทนที่จะรีดน้ำออกไป ดังนั้นควรหมั่นตรวจสอบลมยางและสภาพของดอกยางอยู่เป็น ประจำ เพื่อความปลอดภัยขณะขับขี่ไม่ว่าจะเป็นในฤดูใดก็ตาม
อันดับต่อไป ก็มาว่ากันถึง ระบบเบรก ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยในการใช้รถยนต์เนื่องจากหากระบบเบรก เกิดความผิดปกติขึ้นมา อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุและสูญเสียทรัพย์สินได้ โดยเราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากระดับน้ำมันเบรกที่อยู่ในกระปุก ว่ายังอยู่ในระดับที่กำหนดหรือไม่ โดยจะต้อง อยู่ระหว่าง MAX กับ MIN ซึ่งไม่ได้มีการเติมน้ำมันเบรกเพิ่มเข้าไป ถ้ายังอยู่ก็แสดงว่าผ้าเบรกยังพอใช้ได้ อยู่แต่จะยึดถือเป็นเกณฑ์ตายตัวไม่ได้ เพราะถ้าลูกสูบแม่ปั๊มเบรกติดตายน้ำมันเบรกที่กระปุกก็จะไม่ค่อย ยุบเหมือนกัน สิ่งที่จะได้มาคืออาการขณะที่เบรกจะเบรกไม่ค่อยอยู่หากรถยนต์มีอาการดังกล่าวควรนำเข้ามาตรวจสอบที่ศูนย์บริการ เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองรวมถึงคนที่ท่านรักด้วยอีกเรื่องเกี่ยวกับระบบเบรกคือ เมื่อขับพ้นเขตน้ำท่วม น้ำขัง หรือฝนตกแล้วควรเหยียบเบรกด้วย “เท้าซ้ายเบาๆ” ไว้สัก ระยะ โดยที่เท้าขวายังเหยียบคันเร่งไว้ตามปกติ เพื่อทำให้ผ้าเบรกแห้งโดยใช้ความเร็วต่ำๆ ไปก่อน จนแน่ใจแล้วว่า ระบบเบรกสามารถเบรกได้ตามปกติ จึงขับขี่ตามความเร็วปกติต่อไป
อันดับสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เรามาดูกันที่ ระบบส่องสว่าง เนื่องจากระบบส่องสว่าง เปรียบเสมือนดวงตาของเราโดยกฎหมายกำหนดให้เปิดไฟใหญ่ในกรณีที่มองไม่เห็นสิ่งต่างๆ หรือเห็นได้ ในระยะ 150 เมตร ซึ่งในการเปิดไฟนั้นจะทำให้เรามองเห็นทางและยังทำให้รถคันอื่นมองเห็นเราด้วย สิ่งที่ควรตรวจสอบคือระบบไฟส่องสว่างและ ไฟสัญญาณต่างๆเช่น ไฟฉุกเฉิน ไฟเลี้ยว ไฟเบรก จะต้องติดครบทุกดวง หากดวงไหนไม่ติดควรรีบทำการเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ และหากโคมไฟสกปรก ก็ควรทำความสะอาดด้วย ดังนั้นหากทัศนะวิสัยไม่ดี มองเห็นได้ไม่ชัดเจนก็ควรเปิดไฟใหญ่ เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน
ท้ายสุด สิ่งที่ควรระลึกไว้ในการขับขี่ขณะฝนตก
1.ความเร็วที่ใช้ในการขับขี่ไม่ควรขับเร็วเกินไป เพราะอาจจะเกิดอาการเหินน้ำได้ (การเหินน้ำ คือ อาการที่รถยนต์มีการยกตัวขึ้น เนื่องจากน้ำจำนวนมากที่ปะทะกับ ดอกยางแล้วดอกยางรีดน้ำออกไม่ทันทำให้การควบคุมรถยนต์ทำได้ลำบาก)
2.ระยะห่างระหว่างรถยนต์คันหน้ากับรถยนต์ของเรา ควรทิ้งระยะห่างพอควรสำหรับการเบรกในขณะที่ผ้าเบรกเปียกน้ำ หรือทิ้งระยะห่างเป็น 2 เท่าของระยะปกติ
3.เปิดไฟใหญ่ในขณะที่ฝนตกหนักหรือมีละอองหมอก เพื่อเพิ่มทัศนะวิสัยในการมองเห็นและให้ผู้อื่นมองเห็นเราด้วย
ท้ายที่สุด ทางแผนกเทคนิคและฝึกอบรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความเกี่ยวกับการเตรียมรถยนต์ สำหรับหน้าฝนนี้ จะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่ใช้รถยนต์ในการเดินทางไปทำงาน ,ทำธุระหรือท่องเที่ยว จะได้มีความปลอดภัยมากขึ้นและมีความสุขในการเดินทางกับรถยนต์ที่ท่านรัก