phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

พรบ.รถยนต์ : หมวด 3 ใบอนุญาตขับรถ

หมวด บทความทั่วไป | จำนวนคนอ่าน 18296 ครั้ง | เมื่อ : 19 ม.ค. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

หมวด 3
ใบอนุญาตขับรถ
-------
 

 

     มาตรา 42 ผู้ขับรถต้องได้รับใบอนุญาตขับรถและต้องมีใบอนุญาตขับรถและสำเนาภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถในขณะขับหรือควบคุมผู้ฝึกหัดขับรถเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที เว้นแต่ผู้ฝึกหัดขับรถยนตร์ตามมาตรา 57
     (2)ในกรณีที่ผู้ขับรถเป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ผู้ขับรถซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นจะใช้ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 42 ทวิ ขับรถในราชอาณาจักรก็ได้และในกรณีนี้จะต้องมีใบอนุญาตขับรถดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที
     มาตรา 42 ทวิ(3) ในกรณีที่มีความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศว่าด้วยการยอมรับใบอนุญาตขับรถภายในประเทศซึ่งกันและกัน คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมาย ว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสมาคมยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของประเทศที่มีความตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลไทย อาจใช้ใบอนุญาตขับรถของประเทศนั้นขับรถในราชอาณาจักรได้ตามประเภทและชนิดของรถที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขับรถนั้น แต่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาและหรือความตกลงที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และตามบทบัญญัติทั้งหลายในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถตามพระราชบัญญัตินี้
     มาตรา 43(4) ใบอนุญาตขับรถมี 10 ชนิด คือ
     (1) ใบอนุญาตขับรถยนตร์ส่วนบุคคล รถยนตร์สามล้อส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนตร์ชั่วคราว
     (2) ใบอนุญาตขับรถยนตร์ส่วนบุคคล
     (3) ใบอนุญาตขับรถยนตร์สามล้อส่วนบุคคล
     (4) ใบอนุญาตขับรถยนตร์สาธารณะ
     (5) ใบอนุญาตขับรถยนตร์สามล้อสาธารณะ
     (6) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนตร์
     (7) ใบอนุญาตขับรถบดถนน
     (8) ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์
     (9) ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นนอกจาก (1) ถึง (8)
     (10) ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศสำหรับรถยนตร์ส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนตร์
     ใบอนุญาตขับรถตาม (1) ใช้สำหรับขับรถยนตร์บริการให้เช่าเฉพาะในกรณีที่ผู้ขับเป็นผู้เช่าได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (2) ใช้สำหรับขับรถยนตร์บริการให้เช่าได้ด้วย ใบอนุญาตขับรถตาม (4) ใช้สำหรับขับรถยนตร์บริการและใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (2) ได้ด้วย และใบอนุญาตขับรถตาม (5) ใช้แทนใบอนุญาตขับรถตาม (3) ได้ นอกนั้นใช้แทนกันไม่ได้

     มาตรา 43 ทวิ(1) ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง หรือการขนส่งโดยรถขนาดเล็กตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ให้ใช้แทนใบอนุญาตขับรถยนตร์ส่วนบุคคลตามมาตรา 43 (2) และใบอนุญาตขับรถยนตร์สาธารณะตามมาตรา 43 (4) ได้
     ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถในประเภทการขนส่งส่วนบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกให้ใช้แทนใบอนุญาตขับรถยนตร์ส่วนบุคคลตามมาตรา 43 (2) ได้
     มาตรา 44 ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (1) (2) (3) (4) (5) (6) และ (9) มีอายุหนึ่งปีและใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (7) และ(8) มีอายุสามปีนับแต่วันออก และอาจต่ออายุได้อีกคราวละหนึ่งปีหรือสามปี แล้วแต่กรณี ใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (2) (3)และ (6) ที่เสียค่าธรรมเนียมในอัตราตลอดชีพมีอายุตลอดชีพของผู้ได้รับใบอนุญาต

     การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
     มาตรา 45 ผู้ใดประสงค์จะขอใบอนุญาตขับรถ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราช-บัญญัตินี้ และยื่นคำขอต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่

     การขอใบอนุญาตขับรถและการออกใบอนุญาตขับรถ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
     มาตรา 46 ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (1) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
     (2)(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ถ้าเป็นผู้ขอใบอนุญาตขับรถจักรยานยนตร์ชั่วคราว สำหรับรถจักรยานยนต์ความจุของกระบอกสูบขนาดไม่เกินเก้าสิบลูกบาศก์เซนติเมตร ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์
     (2) มีความรู้และความสามารถในการขับรถ
     (3) มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
     (4) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้
     (5) ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
     (6) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
     (7) ไม่มีใบอนุญาตขับรถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว
     (8) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

     มาตรา 47 ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (2) (3) (4) (5) หรือ (6)
ต้อง
     (1) ได้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (1) มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
     (2) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 46 และ
     (3) ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษหรือถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปสำหรับความผิดเกี่ยวกับ
การขับรถอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพ้นโทษครั้งสุดท้ายไม่น้อยกว่าหกเดือนแล้ว
     (ก) ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร
     (ข) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
     (ค) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
     (ง) ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
     (จ) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
     (ฉ) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

     มาตรา 48 ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (2) (3) หรือ (6) ตลอดชีพ
ต้อง
     (1) ได้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (2) (3) หรือ (6) แล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
     (2) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 46 เว้นแต่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ และ
     (3) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 47 (3)

     มาตรา 49 ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (4) หรือ (5) ต้อง
     (1) ได้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (1) มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
     (2) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 46 เว้นแต่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์
     (3) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 47 (3)
     (4) มีสัญชาติไทย
     (5) รู้จักถนนและทางหลวงในจังหวัดที่ขอรับใบอนุญาตขับรถพอสมควร
     (6) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่อที่น่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
     (7) ไม่เป็นผู้ติดสุรายาเมาหรือยาเสพติดให้โทษ
     (8) ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานรับของโจร และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

     มาตรา 50 ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (4) หรือ (5) เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 49 (8) แต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า
     (1) หกเดือนสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกินสามเดือน
     (2) หนึ่งปีสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาไม่เกินสามเดือนแต่คดีนั้นเกี่ยวด้วยการใช้รถกระทำความผิด หรือ
     (3) หนึ่งปีหกเดือนสำหรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาเกินสามเดือน แต่ไม่เกินสามปี และได้ยื่นคำร้องต่อนาย-ทะเบียนโดยชี้แจงถึงเหตุผลที่ตนต้องโทษพร้อมกับแสดงหลักฐานว่า ตนเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเรียบร้อยควรไว้วางใจให้ขับรถยนตร์สาธารณะได้ ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนคำร้องดังกล่าวถ้าเห็นด้วยกับคำร้อง มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 49     (8) มาใช้บังคับ แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ให้สั่งยกคำร้องและแจ้งให้ผู้ขอทราบผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียนคำสั่งของอธิบดีให้เป็นที่สุด

     มาตรา 51 ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (7) (8) หรือ (9) ต้อง
     (1) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 46 และ
     (2) มีความรู้ความสามารถในการขับรถประเภทนั้น ๆ เป็นอย่างดี
     มาตรา 51 ทวิ(1) ผู้มีใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (2) (4) (5) และ (6) มีสิทธิขอรับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (10)
     มาตรา 52 ให้นายทะเบียนแต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้อง
ห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 46 มาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 51
     มาตรา 53 ผู้ใดได้รับใบอนุญาตขับรถประเภทใดแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้อง
ห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทนั้น ให้นายทะเบียนสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถนั้น
     มาตรา 54 ผู้ใดได้รับใบอนุญาตขับรถแล้ว หากปรากฏว่า
     (1) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
     (2) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
     (3) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดฐานขับรถหรือกระทำการใด ๆ อันน่าจะเป็นภัยต่อประชาชน หรือ
     (4) มีผู้กล่าวโทษว่าทำลายความสงบสุขของประชาชนในถนนหรือทางหลวงโดยขู่เข็ญ ดูหมิ่น รังแก หรือรบกวนคนขับรถด้วยกันหรือผู้โดยสาร  นายทะเบียนมีอำนาจเรียกใบอนุญาตขับรถมายึดไว้ได้ แต่ห้ามมิให้ยึดเกินหนึ่งปี
    (2)ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (4) หรือ (5) เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาประเภทที่ระบุไว้ในมาตรา 49 (8) ให้นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการซึ่งอธิบดีมอบหมายยึดใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (4) หรือ  (5) ตั้งแต่วันยื่นฟ้องต่อศาลจนถึงเวลาที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และในระหว่างเวลาดังกล่าวห้ามมิให้นายทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตขับรถดังกล่าวในการยึดใบอนุญาตขับรถ ให้ผู้ยึดบันทึกการยึดไว้ในใบอนุญาตขับรถด้วย
     มาตรา 55 ในกรณีที่ใบอนุญาตขับรถสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตขับรถต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบเหตุนั้น และในกรณีที่ได้ใบอนุญาตขับรถที่สูญหายคืนให้ส่งใบแทนใบอนุญาตขับรถนั้นแก่นายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้คืน  การขอใบแทนใบอนุญาตขับรถ และการออกใบแทนใบอนุญาตขับรถตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

     มาตรา 56 ภายใต้บังคับมาตรา 43 และมาตรา 57 ห้ามมิให้เจ้าของรถหรือคนขับรถยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือมีใบอนุญาตขับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้เข้าขับรถของตนหรือรถที่ตนเป็นคนขับ
     มาตรา 57 ผู้ใดฝึกหัดขับรถยนตร์ ต้องมีผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถยนตร์มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีควบคุมอยู่ด้วย ในการฝึกหัดขับรถ ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ฝึกหัดและผู้ควบคุมอยู่ในรถถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นผู้ควบคุมต้องรับผิดทางแพ่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ฝึกหัดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสอนในเวลาที่ขับอยู่นั้น
     มาตรา 57 ทวิ(1) ให้ผู้ตรวจการมีอำนาจสั่งให้ผู้ขับรถหยุดรถเพื่อทำการตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กับมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบนั้นได้ และเมื่อพบว่าผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้จะว่ากล่าวตักเตือนหรือสั่งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นไปรายงานตนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับก็ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุก ให้ผู้ตรวจการนำตัวผู้นั้นส่งพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจเพื่อดำเนินคดีต่อไป
     ในการออกคำสั่งให้ไปรายงานตนต่อนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ผู้ตรวจการจะเรียกเก็บใบอนุญาตขับรถของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้ แต่ต้องรีบนำใบอนุญาตขับรถที่เรียกเก็บไปส่งมอบแก่นายทะเบียนภายในแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ออกคำสั่งและให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นใบอนุญาตขับรถชั่วคราวภายในกำหนดเวลาที่ให้ไปรายงานตนดังกล่าว

     คำสั่งให้ไปรายงานตนต่อนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด
     มาตรา 57 ตรี(2) ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้ตรวจการแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง  บัตรประจำตัวผู้ตรวจการให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

หมวด บทความทั่วไป | จำนวนคนอ่าน 18296 ครั้ง | เมื่อ : 19 ม.ค. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

GR Supra ราคาเริ่มต้น 5,199,000 บาท