คำว่า “ความร้อนขึ้นสูง” หมายถึง อุณหภูมิของเครื่องยนต์อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบ (ผลเสีย) ต่อเครื่องยนต์ ก่อนอื่นต้องบอกว่าในรถยนต์ โตโยต้า ณ ปัจจุบัน มีการแจ้งเตือนของความร้อนเครื่องยนต์ ด้วยกัน 2 แบบ คือ
1. แบบเข็ม การทำงานของเข็มชี้วัด ยามเมื่อเครื่องยนต์อยู่ในช่วงอุณหภูมิการทำงานจะต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของมาตรวัด ตราบใดเข็มชี้วัดเกินครึ่งหนึ่ง ได้รำลึกถึงเสมอว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระบบหล่อเย็น อุณหภูมิของเครื่องยนต์สูง
2. แบบไฟเตือน
= สีแดงร้อน ,
= สีเขียว (ฟ้า) เย็น
เนื่องจากว่า รูปแบบของไฟเตือนนั้น จะมีในเรื่องของสีเข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับรุ่นรถยนต์ที่ใช้ไฟเตือนประเภทนี้ ต้องสังเกตสีของการเตือนด้วย
รายละเอียด
- ไฟเตือนสีเขียว หรือ สีฟ้า แสดงว่าเครื่องยนต์หรือระบบหล่อเย็นมีอุณหภูมิต่ำ (ต่ำกว่า 600C)
- ไฟเตือนสีแดง แสดงว่าเครื่องยนต์หรือระบบหล่อเย็นมีอุณหภูมิสูง (สูงกว่า 1170C)
ไม่ว่าการแจ้งเตือนจะมีรูปแบบอย่างไร จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเครื่องยนต์อย่างแน่นอน แสดงว่า มีชิ้นส่วนที่ชำรุดเกิดขึ้น ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง ในระบบหล่อเย็นของเครื่องยนต์ แต่ในรถยนต์โตโยต้านั้น จะสัมพันธ์กับระบบควบคุมเครื่องยนต์ เมื่อใดความร้อนขึ้นสูงผิดปกติ มีการแจ้งเตือนที่มาตรวัดแล้ว ยังมีการเตือนในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก เช่น รูปไฟเตือนเครื่องยนต์ (สีส้ม) ติดค้าง, เสียงเครื่องยนต์ ผิดปกติไปจากเดิม เป็นต้น
นอกจากนี้ หากผู้ขับขี่มิได้สังเกตสิ่งปกติ ตามที่กล่าวมา ระบบควบคุมเครื่องยนต์จะตัดการทำงานของเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติ (เครื่องยนต์ดับ) เพื่อมิให้เครื่องยนต์เกิดการเสียหายไปมากกว่านี้
หมายเหตุ เมื่อเครื่องยนต์มีความร้อนสูง ควรทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง การปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหา, การแก้ไขเบื้องต้นด้วยตนเอง, และข้อควรระวัง สามารถทำความเข้าใจได้ที่บทความของเรา ลำดับที่ 67 ในหัวข้อ “ เครื่องยนต์ร้อนจัดขณะขับขี่ทำอย่างไร” ได้อีกทางหนึ่ง ครับ
ข้อเสนอแนะ กรณีที่เกิดความร้อนขึ้นสูงกับเครื่องยนต์ ย่อมส่งผลกับตัวเครื่องยนต์อยู่แล้วนั้น หลังจากที่มีการซ่อมแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ควรจะได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง ก็จะดีมากครับ
ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้น ทางผู้เขียนมีเจตนาที่ต้องการให้ผู้อ่านเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของความร้อนที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ครับ อันดับต่อไปก็จะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความร้อนขึ้นสูง (ตามหัวข้อของบทความ) มาทำความเข้าใจกันเลยครับ
ความร้อนขึ้นสูง มีด้วยกันหลายประการ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ผู้ขับขี่จะต้องอาศัยการมองบนมาตรวัด (หน้าปัทม์) เวลาที่ขับขี่บ้างเป็นครั้งคราว เพื่อจะได้ทราบว่าความร้อน หรือ อุณหภูมิของเครื่องยนต์ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ กรณีที่ผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน ดังนั้นให้รีบตรวจสอบเท่าที่จะทำได้ หรือ รีบติดต่อช่างก็จะดีมากขึ้น หลายท่านขับรถจนเครื่องยนต์ดับไปเลยก็มี ซึ่งสาเหตุมาจากความร้อนสูง (OVER HEAT) นั่นเอง
สาเหตุ อันดับแรก ได้แก่ ขาดการบำรุงรักษาตามระยะที่กำหนด หมายความว่า ไม่ได้ตรวจสอบระบบต่างๆของรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับรถยนต์นั้น ถ้าได้มีการแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น ก็คงไม่บานปลายถึงขั้นรุนแรง หรือ เสียหายในขณะขับขี่กลางทาง ยกตัวอย่าง เช่น
ปั้มน้ำแตก การที่ปั้มน้ำแตกได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากรอยรั่วเล็ก หรือ มีการซึมของน้ำรอบๆ ตัวของปั้มน้ำ บางครั้งก็มีเสียงดังเกิดขึ้น แล้วค่อยๆลามจนไปถึงเสียหาย (พัง) ไปเลย อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ หม้อน้ำ การที่หม้อน้ำจะแตก ก็เริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นเดียวกัน แน่นอนจะต้องมีการซึมของน้ำ และคราบต่างๆ เกิดขึ้น ตรงบริเวณที่ชำรุด ขอให้คาดเดาไว้ว่า มีความเสียหายเกิดขึ้น เป็นต้น
ทั้ง 2 อย่างไม่ว่าจะเป็นปั้มน้ำและหม้อน้ำ เกี่ยวข้องในเรื่องของความร้อนที่ผิดปกติไปจากเดิม นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่นที่เป็นสาเหตุได้อีก เช่น พัดลมไฟฟ้าไม่ทำงาน หรือ ทำงานผิดปกติ, สายพานขับปั้มน้ำขาดกะทันหัน, หม้อน้ำตัน
ไม่ว่าจะด้านนอกหรือด้านในหม้อน้ำก็ตาม ซึ่งอากาศไหลผ่านได้ไม่สะดวก ความร้อนก็ย่อมขึ้นสูงได้เช่นเดียวกัน
ในบางครั้ง อาจจะมีบ้าง แต่ก็น้อยมากที่จะเกิดโอกาสที่จะกล่าวถึง นั่นก็คือ ขณะขับขี่ระบบหล่อเย็นเป็นปกติ ความร้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แล้วเกิดมีวัสดุปลิวมาติดอยู่หน้าหม้อน้ำ เช่น กระดาษ, ถุงพลาสติก ซึ่งจะทำให้อากาศ หรือ ลมผ่านที่หม้อน้ำไม่สะดวก การระบายความร้อนก็ไม่ดี มาตรวัดความร้อนย่อมเพิ่มขึ้น ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ควรตรวจสอบเบื้องต้นก่อนก็จะดีมากครับ
ต่อมาสาเหตุ อันดับที่สอง ได้แก่ ไม่เปลี่ยนอะไหล่ตามระยะทางที่กำหนด หรือ จากการตรวจพบของช่าง อันนี้ก็เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ เพราะชิ้นส่วนย่อมมีอายุการใช้งานอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เมื่อใดได้ระยะเวลาที่กำหนดก็ควรเปลี่ยน แต่มิได้หมายความว่าเปลี่ยนทุกชิ้นส่วนเสมอ ทางผู้ผลิตรถยนต์ได้กำหนด หรือ ระบุ อยู่ในคู่มือการใช้รถอยู่แล้ว ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ จะช่วยให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี และการใช้งานได้ยาวนาน ยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับความร้อน เช่น น้ำยากันสนิมหม้อน้ำ หน้าที่ของมันคือ ป้องกันการเกิดสนิมที่เกิดขึ้นภายในระบบหล่อเย็น ไม่ว่าจะเป็นปั้มน้ำ, หม้อน้ำ, ท่อทาง และอื่นๆ นอกจากนั้นแล้ว ตัวน้ำยากันสนิมหม้อน้ำ จะมีคุณสมบัติป้องกันการแข็งตัวของน้ำ ยามอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือในอากาศเย็น เมื่อเป็นเช่นนั้น จะส่งผลดีที่สุดกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ปั้มน้ำ, ท่อยางน้ำ มิให้เสื่อมสภาพเร็วอีกด้วย
อันดับที่สาม การเลือกใช้ชิ้นส่วนที่มิได้คุณภาพ (ไม่ใช่ของแท้) การเลือกใช้ประเภทนี้ ไม่เป็นผลดีต่อเครื่องยนต์มากนัก มิหนำซ้ำ อายุการใช้งานก็ไม่นาน ต้องเปลี่ยนบ่อย บางชิ้นส่วนเมื่อมีการบริการ นอกจากทำลำบากแล้ว ค่าแรงก็สูงด้วย อันนี้ ต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน ถึงแม้จะเพิ่งเปลี่ยนใหม่ก็ตาม ก็อาจเกิดการขัดข้องได้ในยามขับขี่ เพราะวัสดุที่ใช้ในการผลิตมิได้มาตรฐานนั่นเอง เมื่อเป็นดังนั้นก็จะเข้าทำนองว่า “เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย” ครับ
การที่เครื่องยนต์เกิดความร้อนขึ้นสูง เป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์อย่างมากๆ (ขอย้ำ) อย่าลืมนะครับว่าหัวใจของรถยนต์ คือเครื่องยนต์ และสิ่งที่กล่าวมา อาจมีประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย ก็ลองพิจารณากันดูนะครับ
รู้ไว้ ใช่ว่า
แผนกเทคนิคและฝึกอบรม
บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด (กรุงเทพฯ)
ขอบคุณภาพ
OKnation