phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

รวมถามตอบเกี่ยวกับการขับขี่

หมวด ข้อมูล-ความรู้ทางเทคนิค | จำนวนคนอ่าน 33084 ครั้ง | เมื่อ : 15 พ.ย. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

เกียร์ออโต้ ฯ จะใช้โอเวอร์ไดร์ตลอดในทางเรียบ เริ่มตั้งแต่ การออกตัวรถได้หรือไม่ ?   
ได้ค่ะ เกียร์ออโต้จะมีการเปลี่ยนเกียร์ตามความเร็วของรถอยู่แล้วควรกดสวิทซ์โอเวอร์ไดร์ให้ทำงานตลอดเวลา (ไฟเตือน O/D OFF ดับตลอดเวลา) หมายความว่า เกียร์ โอเวอร์ไดร์OFFพร้อมที่จะทำงานตลอดเวลา เมื่อความเร็วของรถยนต์ถึงจุดที่จะทำให้ O/D ทำงาน   
 
     
อยากทราบว่ารถทีแล่นอยู่ในเมืองซึ่งมีการจราจรแออัดตลอดเวลา กับรถที่แล่น ในระยะทางไกล ๆ แต่ไม่บ่อยครั้งนัก ระยะทางที่วิ่งเท่ากัน (ไมล์กิโล) หากจะซื้อรถ ที่ใช้แล้ว ควรจะเลือกรถประเภทไหน ?   
ควรจะซื้อรถที่วิ่งในเมืองมากกว่า เพราะรถที่วิ่งในเมืองอะไหล่มีการสึกหรอน้อยกว่า และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่ารถที่วิ่งระยะทางไกลจะชำรุดทรุดโทรมมากกว่า    
     
ทำอย่างไรจึงจะทราบว่ารถเก่าที่จะซื้อนั้น เครื่องยนต์ทำงานแปรผันกับระยะทางที่เป็นจริง ?   
ควรให้ช่างที่ไว้ใจได้เป็นผู้ดูรถและตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ให้และควรดูว่าวันเดือนปีที่ผลิตจากสมุดรับบริการ ซึ่งจะมีรายละเอียดของการบำรุงรักษาอยู่
   
รถเกียร์ธรรมดา เวลาเข้าเกียร์ถอย บางครั้งทำไมเข้าเกียร์ยากต้องย้ำคลัทซ์หลาย ๆ ครั้งจึงจะเข้าเกียร์ได้ ? 
เนื่องจากเกียร์ถอยของเกียร์ธรรมดา เป็นเฟืองเลื่อนเข้าขบกันในขณะเข้าเกียร์ถอยบางครั้งฟันเฟืองของเกียร์ถอย อาจจะมีการตรงกันทำให้เข้าเกียร์ยาก ควรปฏิบัติ โดยก่อนเข้าเกียร์ถอย ควรเข้าเกียร์ 1 หรือเกียร์อื่น เพื่อให้เฟื่องเลื่อนไปที่ตำแหน่งอื่นแล้วจึงเข้าเกียร์ถอยจะทำให้เข้าเกียร์ถอยได้ง่ายขึ้น หรือควรให้รถจอดสนิททุกครั้ง ก่อนเข้าเกียร์ถอย     
 
      
ไฟสัญญาณจราจร สีแดงกะพริบ และสีเหลืองกะพริบหมายถึงอะไร?    
ตามแยกต่างๆ ในบางครั้งแทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเปิดไฟ แดง เหลือง และเขียวตามปกติ กลับเปิดเป็นไฟแดงกะพริบตลอดเวลา หรือ เปิดไฟเหลืองกะพริบตลอดเวลา ซึ่งการเปิดไฟกะพริบทั้ง 2 แบบ มีความหมายดังนี้

  • เปิดไฟแดงกะพริบตลอดเวลา เทียบเท่ากับป้ายสัญญาณ " หยุด " หมายถึง ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่สัญญาณไฟก่อนเมือ่เห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไปได้
  • เปิดไฟเหลืองกะพริบตลอดเวลา เทียบเท่ากับป้ายสัญญาณ " ระวัง " หมายถึง ผู้ขับขี่จะต้องชลอรถ (จะหยุดก็คงไม่เป็นอะไร เพราะบางครั้งก็จำเป็นต้องหยุด)ที่สัญญาณไฟก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับต่อไปได้ 

ควรทิ้งช่วงห่างเท่าไรจากรถคันข้างหน้าขณะขับรถ?    
  ในสภาพอากาศดีควรขับรถห่างจากคันข้างหน้าให้รถหยุดได้ภายใน 2 วินาที  ถ้าจะลองวัดเวลาดูให้สังเกตดูรถคันข้างหน้าที่แล่นผ่านวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งข้าง ถนน และลองนับว่า "หนึ่งพันหนึ่งร้อย หนึ่งพันสองร้อย" ถ้ารถคุณผ่านวัตถุ เดียวกันนั้นก่อนที่นับเสร็จ แสดงว่าคุณจะอยู่ใกล้รถข้างหน้าเกินไป ถ้าคุณขับรถในขณะฝนตกกฎที่ควรจำคือใช้เวลาเป็นสองเท่าโดยมีเวลา 4 วินาที เวลาหมอกจัดท่านควรขับตามคันข้างหน้าให้มีระยะห่างอย่างน้อย 8 วินาที เพื่อความปลอดภัย

หมายเหตุ : ควรตรวจระบบเบรกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
                : ควรขับรถด้วยความเร็วที่ปลอดภัย
    
 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน   
- เบรกแตกหรือเสีย

    ให้ย้ำเบรกแรง ๆ บ่อย ๆ อาจทำให้เบรกมีกำลังดีขึ้นถ้าเบรกเสีย และข้างหน้าไม่มีรถขวาง ให้ลดความเร็วโดยใช้เกียร์ช่วยและใช้เบรกมือช่วย การใช้ควรลดเกียร์จากเกียร์ 4 มาเกียร์ 3 เกียร์ 2 และเกียร์ 1  ตามลำดับ ถ้าเกิดเหตุขณะขึ้นเขาหรือลงเขา ให้ใช้สิ่งกีดขวางทางเพื่อหยุดรถ อย่าลืมให้แตร หรือสัญญาณฉุกเฉินเตือนรถและคน ให้ทราบว่ารถของคุณกำลังผิดปกติ

- รถเสียหลักลื่นไหล
    การเลี้ยวรถแรง ๆ หรือห้ามล้อแรง ๆ ทำให้รถเสียการทรงตัวได้ โดยเฉพาะบนถนนที่เปียกน้ำ เมื่อรู้สึกว่ารถลื่นไหล ให้ถอนคันเร่ง และหัก พวงมาลัยไปในทิศทางเดียวกับรถที่ไหล เมื่อรถตั้งลำได้แล้วค่อยบังคับ พวงมาลัยคืนให้ตรง

- ยางแตกหรือระเบิด
    ถือพวงมาลัยให้มั่น อย่าให้รถเสียหลัก ถ้ายางหน้าแตกรถจะเอียงไปทางที่แตก ถ้ายางหลังแตกจะรู้สึกรถสะเทือน อย่าเหยียบเบรกกะทันหัน    ค่อย ๆ เบรก แล้วนำรถเข้าข้างทาง

- เมื่อรถเสีย
    รถเสียหรือขัดข้องต้องเข็นเข้าข้างทาง ผู้ขับขี่ต้องจัดตั้งเครื่องหมายเตือนให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นทราบ โดยให้วางป้ายบอกรถเสีย ไว้บนถนนเพื่อปิดกั้นการจราจรมิให้รถคันอื่นขับเข้าไปชน หรือเฉี่ยวรถคันที่เสีย เครื่องหมาย ป้ายรถเสีย จะต้องจัดวางไว้ในระยะห่างจากตัวรถที่เสียไม่ต่ำกว่า 45 เมตร    โดยจะต้องจัดวางไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังรถ ถ้าในเวลากลางคืน    ต้องเปิดไฟทิ้งไว้ หรือให้สัญญาณอย่างอื่นที่จะทำให้ผู้อื่นสังเกตได้ง่าย อนึ่ง เมื่อผู้ขับขี่รถสังเกตเห็นว่า รถคันอื่นได้พากันชะลอความเร็วหยุด หรือเมื่อเห็นสัญญาณเตือนด้วยแสงไฟวับวาบจากรถตำรวจและรถพยาบาล ให้ผู้ขับขี่รถรีบชะลอความเร็ว เตรียมพร้อมที่จะหยุด ทั้งนี้เพราะอาจมีอุบัติเกิดขึ้น ข้างหน้า

- เมื่อรถวิ่งสวนกินทางเข้ามา
    หากรถดังกล่าววิ่งสวนทางมาจะชนให้ชะลอความเร็วลง และให้สัญญาณไฟ หรือแตรเตือน ถ้าสามารถทำได้พยายามหักหลบทางซ้าย อย่าหักหลบทางขวา
   
 
ยางระเบิดในขณะขับขี่   
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การควบคุมสติให้ดีอย่าตกใจ มองกระจกหลังเพื่อให้ทราบว่ามีรถคันอื่นขับตามมาหรือไม่ ที่สำคัญคือมือทั้งสองข้างต้องจับอยู่ที่พวงมาลัยอย่างมั่นคง หลังจากนั้นค่อย ๆ ถอนคันเร่งออก และแตะเบรกอย่างแผ่วเบาแต่ถี่ ๆ เพราะถ้าแตะเบรกแรงจะทำให้รถหมุนเป็นอันตราย ข้อห้ามอย่างเด็ดขาด ก็คืออย่าเหยียบ คลัตช์ เนื่องจากเป็นการตัดแรงบิดของเครื่องยนต์ให้ขาดจากเพลา จะทำให้รถลอยตัวไม่เกาะถนน และบังคับได้ยากจนอาจทำให้เสียหลัก และเมื่อความเร็วลดลงได้ระดับพอประมาณแล้ว ให้เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวและนำรถเข้าทางซ้ายมือ จนกระทั่งความเร็วลดระดับลงจนควบคุมได้ให้เปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำและหยุดรถ

ข้อสังเกตเมื่อยางระเบิด คือ ไม่ว่ายางด้านใด จะระเบิดล้อหน้า หรือ ล้อหลังก็ตาม เมื่อระเบิดด้านซ้ายรถก็แฉลบไปด้านซ้ายแล้ว จะสะบัดกลับและสะบัดไปด้านซ้ายอีกสลับกันไป และในทำนองเดียวกัน หากระเบิดด้านขวาอาการก็จะกลับเป็นตรงข้าม อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นส่วนมากก็คือ หากขณะยางระเบิดรถวิ่งอยู่ที่ความเร็วสูงมาก ๆ พอยางระเบิดขึ้นรถก็จะกลิ้ง ทันทีทำอะไรไม่ได้

เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในขณะขับรถ ท่านจึงไม่ควรขับรถเร็วจนเกินไปโดยเฉพาะบนทางด่วนที่ในบางครั้งเห็นรถว่าง ๆ อาจทำให้ท่านไม่ได้ควบคุมเรื่องความเร็วที่สูงเกินไป (ความเร็วที่ถือว่าปลอดภัยใน DEFENSIVEDRIVING คือ ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. และบนทางด่วน เราจำกัดให้วิ่งได้110 กม./ชม.) ซึ่งเป็นอันตรายที่เราสามารถระวังและควบคุมได้หากตั้งอยู่ในความไม่ประมาท     
 
การรันอินรถยนต์     
ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการใช้รถใหม่เพราะหากไม่มีการรันอิน หรือกระทำไม่ถูกวิธี อายุการใช้งานของรถจะสั้นกว่าปกติ และประสิทธิภาพของ
เครื่องยนต์จะไม่ดีเท่าที่ควร ในช่วง 500 กม. แรก ควรหาโอกาสขับรถระยะทางไกล เช่นไปต่างจังหวัดขับขี่ด้วยความเร็วปานกลาง และนิ่มนวล(ไม่ควรเกิน 4000 รอบ/นาที) หลีกเลี่ยงอย่าให้เครื่องยนต์ทำงานหนัก ควรเปลี่ยนแปลงความเร็วอย่าใช้อัตราคงที่ อย่าขับขี่ด้วยความเร็วจุดใด
จุดหนึ่งเป็นเวลานาน (ไม่ควรเกินกว่า 5 นาที) เพื่อให้การสึกหรอของเครื่องยนต์เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ

  • การติดเครื่องยนต์ครั้งแรกหลังจากจอดทิ้งไว้ อย่าเหยียบคันเร่งหลังจากเครื่องยนต์ทำงานเพื่อให้น้ำมันเครื่องไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่าง ๆ รอให้เครื่องยนต์อยู่ในอุณหภูมิทำงาน
  • ไม่ควรเร่งเครื่องอยู่กับที่ เครื่องยนต์จะไม่มีโหลด ซึ่งหมายถึง การเสียดสีภายในเครื่องยนต์จะมีมากเกินความจำเป็น
  • ควรออกรถให้นิ่มนวล และไม่ควรใช้รอบเครื่องเกิน 4000 รอบต่อนาที
  • ก่อนจะดับเครื่องยนต์ควรปล่อยให้เครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบาซักครู่ ไม่จำเป็นจะต้องเบิ้ลเครื่องก่อนปิดสวิทช์กุญแจ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงจะไปค้างอยู่ที่หัวลูกสูบ แล้วจะชำระล้างน้ำมันเครื่องที่เคลือบผิวกระบอกสูบ และแหวนลูกสูบออก พอติดเครื่องอีกครั้งอาจจะเกิดการสึกหรอ
  • ในช่วงแรก ๆ ควรตรวจเช็ก ระดับน้ำมันเครื่อง ระดับน้ำในหม้อน้ำบ่อย ๆ เผื่อเกิดผิดปกติอะไรขึ้นจะได้แก้ไขทัน บางทีรถใหม่ อาจมีความบกพร่องในการประกอบ หลังจากนี้แล้วควรเปลี่ยน น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำมันคลัตช์ น้ำมันพาวเวอร์ ตามกำหนดที่มีในคู่มือ และน้ำรถเข้ารับบริการ และตรวจเช็กตาม ระยะเวลา อย่างเคร่งครัด 


การหยุดรถและจอดรถ    
ห้ามจอดรถในสถานที่ต่อไปนี้

    1. ในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
    2. ในระยะ 3 เมตร จากทางม้าลาย
    3. ในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง
    4. ในระยะ 10 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร
    5. ในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน
    6. ในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงป้ายรถประจำทาง และเลยไปอีก 3 เมตร
    7. ในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์
    8. ถ้าจอดรถทางลาดชัน ต้องหันล้อหน้าของรถเข้าขอบทาง
    9. ในเวลากลางคืน ผู้ขับรถที่จอดรถในทาง ต้องเปิดไฟ หรือ ให้แสงสว่างที่มองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร
    10. ในระยะ 5 เมตร จากทางรถไฟผ่านห้ามหยุดรถ
    
เทคนิคการคาดคะเนอันตราย     
    คนเราถ้าปิดตาอยู่ก็จะขับรถไม่ได้หรือถึงแม้ลืมตาแต่จิตใจไม่อยู่กับตัวหรือมองไปยังสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขับรถเลย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขับรถอย่างปลอดภัย

1. การรับรู้สภาพต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้าอย่างถูกต้อง
    ในระหว่างการขับขี่จะต้องระมัดระวังข้างหน้า หลัง ซ้าย ขวา อยู่ตลอดเวลาและจำเป็นต้องรับรู้ให้ถูกต้องและรวดเร็วเกี่ยวกับสภาพของถนนว่า มีรถหรือคนอยู่หรือไม่ มีการเคลื่อนไหวอย่างไร

2. สังเกตให้ดีว่ามีหรือไม่
    การขับขี่ให้ปลอดภัยนั้นจะต้องแน่ใจว่าที่ตรงนั้นไม่มีคนหรือรถวิ่งออกมาเพราะถ้าทราบแน่ชัดว่าไม่มีคนหรือรถอยู่ที่นั่นแล้ว จึงสามารถบอกได้ว่าจะมีอันตรายหรือไม่แม้ว่าในกรณีที่มองไม่เห็น เพราะหลบมุมสายตาอยู่ แต่ถ้าใช้ความสังเกตบางสิ่งบางอย่างก็จะช่วยลดอุบัติเหตุได้

3. การคาดคะเนการเคลื่อนไหวของรถคันอื่นและผู้ใช้ถนน
    การเห็นเพียงว่ามีรถคันอื่น หรือ คนอยู่ในบริเวณนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ขับรถจำเป็นจะต้องคาดคะเนได้อย่างถูกต้องว่า คนหรือรถนั้นจะเคลื่อนไหวไปอย่างไร ตัวอย่างเช่น กรณีที่เป็นคนเดินถนน ควรสังเกตจากการเคลื่อนไหวของเขาจากสายตา และมุมที่ยืน

           - เขากำลังจะทำอะไร
           - เขาทราบหรือไม่ว่า มีรถกำลังมา เป็นต้น

จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวัง และคาดคะเนให้ถูกต้อง

ทำอย่างไร ? รถติดบนทางชัน     
 
        ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับรถที่ขับ เมื่อรถติดบนทางขึ้นสะพานมักเกิดปัญหารถถอยหลังขณะที่จะออกตัว เครื่องยนต์ดับ สะดุด ควรปฏิบัติดังนี้

     -  ขึ้นเบรกมือไว้
     -  จะออกรถ (เกียร์ธรรมดา) เข้าเกียร์ 1 มือซ้ายจับเบรกมือ มือขวาจับพวงมาลัยปล่อยคลัชท์ช้า ๆ รถขยับทำท่าเคลื่อนไปข้างหน้า แล้ว กดปุ่มเบรกมือลง
     -  (เกียร์AUTO) เข้าเกียร์ 2 หรือ L เหยียบคันเร่งเบา ๆ รถขยับทำท่าเคลื่อนไปข้างหน้าแล้วจึงกดปุ่มเบรกมือลง

การลากรถ     

  • สำหรับรถลากที่สามารถยกด้านใดด้านหนึ่งของรถที่ถูกลากได้ ควรยกล้อขับเคลื่อนขึ้นเพื่อป้องกันการเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับเกียร์ ถ้าเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลังควรล็อคพวงมาลัยล้อหน้า ให้อยู่ในตำแหน่งตรงตลอดเวลา
  • ควรเลือกสายลาก ที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์มากว่าสลิง ถ้าเกิดขาดอาจดีดใส่รถยนต์ จนได้รับความเสียหาย
  • สำหรับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ลากได้ ไม่ใช่ห้ามลาก เพียงแต่ควรลากช้า ๆ และระยะทางไม่เกิน 40 - 50 กม. ถ้าสะดวก ก็ควรเติมน้ำมันเกียร์เพิ่ม เพื่อช่วยระบายความร้อนในชุดเกียร์ ถ้าต้องลากเป็นระยะทางไกล ควรมีการหยุดพักเป็นระยะ เพื่อระบายความร้อนน้ำมันเกียร์ และต้องถ่ายน้ำมันเกียร์ออกให้อยู่ในระดับปกติ เมื่อเสร็จสิ้นการลากแล้ว
  • ก่อนลากควรซักซ้อมทำความเข้าใจระหว่างผู้ขับขี่ทั้ง 2 คัน
  • รถลากควรออกตัวอย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการกระชาก และค่อย ๆ เพิ่มความเร็วขึ้น ควรใช้ความเร็วคงที่ เพื่อรักษาระดับความตึงของเชือก
  • ควรขับในเลน ซ้ายสุด และติดป้าย รถลาก ไว้ พร้อมเปิดไฟฉุกเฉิน และไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 30 - 40 กม./ชม.

ทางเอก ทางโท ดูกันอย่างไร?
          มักจะสงสัยกันอยู่เสมอว่า ทางไหนคือทางเอก ทางไหนคือทางโท พอจะให้ข้อแนะนำในการดูดังนี้

  1. ถ้ามีป้ายบอกว่าเป็นทางเดินรถเอก
  2. ทางโท จะมีป้ายบอก " ให้ทาง " ไว้ หรือมีคำว่า " หยุด " บอกไว้ อีกทางที่ขวางหน้าก็เป็นทางเอก
  3. ทางที่มีช่องทางเดินรถมากกว่า
  4. ถ้ามีถนนตัดกับตรอกซอย ถนนเป็นทางเอก ตรอกซอยเป็นทางโท

รถถูกยกเสียอะไร?    
ในกรณีที่รถของท่านจอดรถกีดขวางการจราจร ตำรวจจะยกรถท่านไปโรงพักนอกจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 500 บาท ต้องเสียค่าเคลื่อนย้ายรถ และค่าดูแลรักษา รถดังนี้
 

ค่าใช้จ่าย

รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป

รถบรรทุก 4 ล้อ / 6 ล้อ

รถอื่น ๆ

ค่ายก

1,000 บาท

700 บาท

500 บาท

ค่าดูแล

500 บาท / วัน

300 บาท / วัน

200 บาท / วัน

หมวด ข้อมูล-ความรู้ทางเทคนิค | จำนวนคนอ่าน 33084 ครั้ง | เมื่อ : 15 พ.ย. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

    แสดงความคิดเห็น (2)

  • ความเห็นที่ 1
  • รถมีควันดำจากท่อไอเสียมากผิดปกติเกิดจากอะไร
  • จาก : เจี้ยบ เชียงใหม่
  • เมื่อ : 2008-06-13 07:29:31
  • ความเห็นที่ 2
  • รถยนต์(รถเก๋ง)ขับเคลื่อนกี่ล้อครับ และรถยนต์ที่เป็น D4D ขับเคลื่อนกี่ล้อครับ
  • จาก : มาโนชย์ มีสุข
  • เมื่อ : 2009-11-22 14:27:28

เลือกซื้อสินค้าออนไลน์ Trumq