กระจกมองข้างเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยชิ้นหนึ่ง สำหรับช่วยในการมองเห็นสิ่งที่อยู่ทางด้านข้างของรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นด้านซ้ายหรือด้านขวา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ ป้องกันการเฉี่ยวชนกับวัตถุอื่น ซึ่งในรถยนต์ปัจจุบันเกือบทุกรุ่น สามารถที่จะพับเก็บกระจกมองข้างได้ ไม่ว่าจะเป็นการพับเก็บด้วยมือ หรือ พับเก็บด้วยไฟฟ้าก็ตาม สำหรับบทความนี้ขอกล่าวถึง “ข้อควรระวังในการพับเก็บ”
กระจกมองข้างประเภทพับเก็บด้วยมือ กรณีที่ต้องการพับเก็บก็ใช้มือดันพับ เวลากางก็ใช้มือง้างออก ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นประเภทที่ทำงานด้วยไฟฟ้า ห้ามใช้มือพับเก็บหรือกางออกอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะเกิดการชำรุดที่ระบบกลไก และในการซ่อมบำรุงจะมีราคาค่อนข้างสูง
ถาม ทำไมถึงมีการเสียหาย ?
เพราะว่า กลไกในการพับเก็บนั้นจะต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าในการทำงาน โดยมีมอเตอร์ขนาดเล็กเป็นตัวทำงานหลังจากที่ได้รับสัญญาณทางไฟฟ้า จากสวิทซ์สั่งการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการพับเก็บหรือกางออก มอเตอร์ก็จะทำงานจนเสร็จสมบูรณ์ อันนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่ปกติและไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเมื่อใด ใช้มือกระทำ จะเป็นการฝืนการทำงานของมอเตอร์ จะทำให้กลไกในการทำงานเสียหายไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์, ฐานมอเตอร์, แกนหมุน และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งบางรุ่นจะไม่มีการแยกจำหน่าย อาจจะต้องทำการเปลี่ยนใหม่ทั้งตัว เท่ากับว่าจะต้องจ่ายเงินที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ในเรื่องของสีก็มีส่วนร่วม หมายความว่า กระจกมองข้างที่เป็นสีเดียวกับตัวรถ ดังนั้น จะต้องมีการทำสีเพิ่มเติมครับ
กระจกมองข้างแบบพับเก็บและการออกแบบใช้ไฟฟ้า เมื่อใดกดสวิทซ์การทำงานแล้ว มีเสียงการทำงาน แต่ไม่กางออกหรือพับเก็บ แสดงว่า เกิดการขัดข้องขึ้นเกี่ยวกับกลไกการทำงาน ให้ทำการตรวจสอบที่แหล่งกำเนิดเสียง เพราะบริเวณนั้นเป็นที่มาของปัญหา แต่ถ้าเป็นปัญหาอื่นที่ไม่มีการทำงาน ควรนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อทำการแก้ไขต่อไปครับ
ถาม แล้วจะรู้อย่างไรเป็นประเภทไหน ?
1. ศึกษาได้จากคู่มือการใช้รถ รถยนต์รุ่นนั้นๆ
2. มีสวิทช์การทำงานแสดงว่าเป็นแบบไฟฟ้า
3. สอบถามได้ที่ศูนย์บริการของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ
การใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ถ้ามีการใช้งานอย่างถูกต้อง ก็มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน พร้อมกันนั้นยังช่วยประหยัดในการซ่อมบำรุงอีกด้วยครับ และทางผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านทุกท่านคงพอใจกับรถยนต์ที่ท่านใช้งานอยู่นะครับ
ระวัง จะพังยาก
แผนกเทคนิคและฝึกอบรม
บริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด (กรุงเทพฯ)