phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

พรบ.รถยนต์ : หมวด 2 ภาษีประจำปี

หมวด บทความทั่วไป | จำนวนคนอ่าน 9617 ครั้ง | เมื่อ : 19 ม.ค. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

หมวด 2
ภาษีประจำปี
-------
 

      มาตรา 29 ภาษีประจำปีสำหรับรถมีอัตราตามที่กำหนดไว้ท้ายพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่
      (1) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนมาแล้วห้าปีนับแต่ปีที่จดทะเบียนครั้งแรก ให้ได้รับการลดหย่อนภาษี
ประจำปีในปีต่อ ๆ ไป ในอัตราร้อยละ ดังต่อไปนี้
      ปีที่หก ร้อยละสิบ
      ปีที่เจ็ด ร้อยละยี่สิบ
      ปีที่แปด ร้อยละสามสิบ
      ปีที่เก้า ร้อยละสี่สิบ
      ปีที่สิบและปีต่อ ๆ ไป ร้อยละห้าสิบ
      (2) รถซึ่งใช้ล้ออย่างอื่นนอกจากยางกลวง ให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตราที่กำหนดไว้อีกกึ่งหนึ่ง
      มาตรา 29 ทวิ(1) ในกรณีที่รถยนต์คันใดไม่ใช้เครื่องยนต์ลูกสูบที่จะคำนวณความจุของกระบอกสูบได้ หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดของกระบอกสูบหรือเครื่องยนต์ให้เทียบเป็นความจุของกระบอกสูบ หรือคำนวณความจุตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
      มาตรา 29 ตรี(2) ในการกำหนดความจุของกระบอกสูบของรถยนต์ เพื่อชำระภาษีประจำปีให้นายทะเบียนประกาศความจุของกระบอกสูบของรถยนต์แต่ละแบบไว้ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม  ในกรณีที่ประกาศตามวรรคหนึ่งไม่ครอบคลุมถึงแบบของรถยนต์คันใดให้นายทะเบียนเก็บภาษีประจำปีโดยถือความจุของกระบอกสูบ ตามหนังสือคู่มือประจำรถยนต์ของรถยนต์คันนั้น ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับรอง และให้นายทะเบียนดำเนินการประกาศความจุของกระบอกสูบของรถยนต์คันดังกล่าวต่อไป

      ประกาศตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
      มาตรา 30 ให้รถที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนตามมาตรา 8 และรถที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา 9 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีประจำปีด้วย
      มาตรา 31 ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร ให้รัฐมนตรีมีอำนาจลดภาษีประจำปีสำหรับรถในเขตท้องที่ใดหรือในกรณีใดลงจากอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 29 ได้

      การลดตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
      มาตรา 32 เจ้าของรถมีหน้าที่เสียภาษีประจำปี
      ภาษีประจำปีให้เสียล่วงหน้าคราวละหนึ่งปี ถ้ามิได้เสียภาษีภายในเวลาที่กำหนด ให้เจ้าของรถนั้นชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของจำนวนภาษีที่ค้างชำระ
      รถใดที่เสียภาษีประจำปีสำหรับปีใด แม้ในปีนั้นจะไม่ได้ใช้ เจ้าของรถก็ไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษี ถ้าเปลี่ยนเจ้าของรถในปีใด เจ้าของใหม่ไม่ต้องเสียภาษีประจำปีสำหรับรถนั้นในปีนั้นอีก
      มาตรา 33 ในกรณีที่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทรถหรือเปลี่ยนการใช้รถผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ในระหว่างปี ถ้าเป็นเหตุให้เสียภาษีลดลง เจ้าของรถไม่มีสิทธิได้รับคืนค่าภาษีส่วนที่เสียเกิน แต่ถ้าต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เจ้าของรถต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นให้ครบถ้วนถูกต้องเมื่อจะต้องขอจดทะเบียน
      มาตรา 34 รถใดที่จดทะเบียนแล้ว แม้จะไม่ได้ใช้ก็ต้องเสียประจำปีตามมาตรา 29 หรือมาตรา 31 แล้วแต่กรณี และมาตรา 32 เว้นแต่เจ้าของรถจะแจ้งการไม่ใช้ต่อนายทะเบียนก่อนถึงกำหนดเสียภาษีประจำปีครั้งต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ เงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
      มาตรา 35 ผู้ใดมีหน้าที่เสียภาษีประจำปีแล้วไม่เสียภาษีประจำปีภายในเวลาที่กำหนด นายทะเบียนอาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ นั้นนำเงินไปชำระภาษีประจำปีให้ถูกต้องครบถ้วน ณ ที่ทำการของนายทะเบียนภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
      ในกรณีที่ผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนมีอำนาจยึดรถนั้นไว้ได้
      มาตรา 36(1) นายทะเบียนมีอำนาจออกประกาศหรือสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของรถนำรถไปตรวจ ณ ที่ทำการของ นายทะเบียน หรือสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
      มาตรา 37(2) นายทะเบียนและผู้ตรวจการซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเข้าตรวจในที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีรถค้างชำระภาษีประจำปีและยึดรถนั้นไว้เพื่อตรวจสอบได้

      การเข้าตรวจตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก
      มาตรา 38(3) ในกรณีที่ผู้ตรวจการซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นผู้ตรวจและยึดตามมาตรา 37 ให้นำส่งนายทะเบียนโดยมิชักช้า และให้นำมาตรา 35 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
      มาตรา 39 รถที่ยึดมาตามมาตรา 35 วรรคสอง หรือมาตรา 37 ให้นายทะเบียนเก็บรักษาไว้สิบห้าวัน ถ้าเจ้าของรถไม่นำเงินภาษีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการยึดรถไปชำระให้ถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้จัดการขายทอดตลาดรถนั้น
      (4)ในการขายทอดตลาด ห้ามมิให้นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเข้าสู้ราคา
      ถ้าขายทอดตลาดได้เงินเกินค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการยึดและขายรถ ให้คืนเงินที่เหลือแก่เจ้าของรถ
      มาตรา 40 ผู้ใดแจ้งความนำจับรถที่เจ้าของรถมิได้ชำระภาษีประจำปีภายในเวลาที่กำหนด เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ผู้นั้นได้รับรางวัลนำจับในอัตราร้อยละหกสิบของจำนวนเงินเพิ่มของภาษีที่ต้องชำระ
      มาตรา 41(1) เงินภาษีประจำปีรวมทั้งเงินเพิ่มและค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถ ที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพมหานครให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ส่วนในจังหวัดอื่นให้ตกเป็นรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาลในจังหวัดนั้น เมืองพัทยา และราชการส่วนท้องถิ่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยให้กระทรวงมหาดไทยจัดสรรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

 

ขอบคุณภาพ

thaihomeonline.com

หมวด บทความทั่วไป | จำนวนคนอ่าน 9617 ครั้ง | เมื่อ : 19 ม.ค. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

เลือกซื้อสินค้าออนไลน์ Trumq