ท่านเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่าน้ำแข็งที่ท่านบริโภคนั้นสะอาดหรือไม่ น้ำแข็งที่เหมาะจะบริโภคถ้ามองลักษณะทั่วไปเมื่อละลายน้ำต้องใสไม่มีตะกอน ถ้าเป็นน้ำแข็งบดต้องไม่มีเศษวัสดุหรือผงอื่นใดปนมา และถ้าเราแอบเข้าไปดูภาชนะที่บรรจุซึ่งอาจจะอยู่ด้านหลังร้านหรือหน้าร้านภาชนะที่บรรจุต้องสะอาด ไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้ว หรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียวยกเว้นให้มีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้าม เพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น ถ้าพบว่ามีการนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่รวมกันอยู่ในถังน้ำแข็งนั้น ก็ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการบริโภคอีกต่อไป
การขนส่งเป็นขั้นตอนหนึ่งจะทำให้น้ำแข็งเกิดการปนเปื้อน โดยต้องขนส่งในพาหนะหรือรถที่ผ่านการทำความสะอาด หรือไม่ใช้เท้าสกปรกหรือรองเท้าผลักดันน้ำแข็ง ต่อมาก็คือขั้นตอนในการเก็บรักษา ภาชนะที่บรรจุไม่ควรวางอยู่บนพื้น ทางเท้าหรือใกล้ถังขยะ ภาชนะที่ใช้เก็บสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย และต้องมีฝาปิดมิดชิด เมื่อถึงขั้นตอนจำหน่ายเพื่อให้เราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้บริโภคก็ต้องจัดให้มีที่ตักน้ำแข็งมีด้ามในการตักไม่ใช่มือกอบน้ำแข็ง ซึ่งเป็นภาพที่อาจพบได้ทั่ว ๆ ไป สาเหตุที่ไม่ให้ใช้มือเพราะมืออาจไม่สะอาด อาทิเช่น ผู้สัมผัสอาหารบางท่านเพิ่งออกจากการทำภารกิจในห้องน้ำแล้วไม่มีการล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก็จะทำให้น้ำแข็งที่ใช้มือกอบนั้นเกิดการปนเปื้อน เมื่อรับประทานก็อาจเกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้
ซึ่งการป้องกันและปฏิบัติตามที่กล่าวมาทั้งหมดถูกต้องก็สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เปราะหนึ่ง แต่ยังไม่ทั้งหมด เพราะการทำน้ำแข็งถ้านำน้ำที่ไม่สะอาดมาเป็นวัตถุดิบในการจัดทำถึงแม้ว่าเราจะได้ทำการควบคุมขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดก็คงจะไม่มีประโยชน์การจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าน้ำแข็งที่เรากินในร้านเป็นน้ำแข็งที่สะอาด ต้องทำการควบคุมดูแลตั้งแต่การนำน้ำมาทำน้ำแข็ง การขนส่ง ภาชนะที่บรรจุ การเก็บรักษาตลอดจนการจำหน่าย