phithan-toyota.com | พิธานพาณิชย์ จำกัด ศูนย์บริการและจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น

บทความ

การใช้เกียร์อัตโนมัติและปุ่มสวิทช์ควบคุมต่างๆ

หมวด ข้อมูล-ความรู้ทางเทคนิค | จำนวนคนอ่าน 36914 ครั้ง | เมื่อ : 15 พ.ย. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

            เกียร์อัตโนมัติจะมีตำแหน่งบอกของแต่ละเกียร์ ซึ่งแต่ละเกียร์จะมีหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้ตำแหน่งของเกียร์ได้ อย่างถูกต้อง และทุกครั้งที่จะทำการเปลี่ยนเกียร์จากตำแหน่ง “P” หรือ “N” ไปยังตำแหน่งเกียร์อื่นๆ ควรทำการเหยียบเบรกไว้ด้วยทุกครั้ง และป้องกันการ กระตุกของตัวรถด้วย  

 

 

  • เกียร์ “ P ” จอดและสตาร์ทเครื่องยนต์ ตำแหน่งนี้ใช้เมื่อจอดรถ ซึ่งจะล็อคเกียร์ได้ ป้องกันไม่ให้รถเลื่อนไหลและ สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้ 
  • เกียร์ “ R ” ถอยหลัง ตำแหน่งนี้จะทำให้รถเคลื่อนที่ถอยหลัง 
  • เกียร์ “ N ” เกียร์ว่าง เมื่ออยู่ในตำแหน่งนี้ เครื่องยนต์จะไม่เชื่อมต่อกำลังกับล้อรถ ทำให้รถเลื่อนไหลไปมาได้ และสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ติดได้ 
  • เกียร์ “ D ” ขับ เมื่อเข้าอยู่ในตำแหน่งนี้รถจะเคลื่อนที่ออกไปข้างหน้า เมื่อคุณเหยียบคันเร่งขณะที่รถแล่นเร็วขึ้น เกียร์ก็จะเปลี่ยนขึ้นเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อลดความเร็วระดับของเกียร์ก็จะลดเปลี่ยนเองตามความเร็ว  
  • เกียร์ “ 2 ” เกียร์ 2 ในตำแหน่งนี้ เกียร์จะเปลี่ยนเฉพาะเกียร์ 1 และ 2 เท่านั้น เมื่อต้องการให้เครื่องยนต์ช่วยเบรกหรือต้องการขับลงเขา 
  • เกียร์ “ L ” เกียร์ต่ำ ในตำแหน่งนี้ เกียร์จะทำงานที่เกียร์ 1 อย่างเดียว ใช้เมื่อต้องการการฉุดลากมากกว่าเกียร์ 2 หรือต้องการให้เครื่องยนต์ช่วยเบรกมากกว่าเกียร์ 2 

    ข้อควรระวัง ในการใช้เกียร์อัตโนมัติ  
         •  ขณะที่รถหยุดนิ่งควรเหยียบเบรกก่อนเข้าเกียร์ 
         •  ก่อนที่จะเปลี่ยนเกียร์กลับทิศทางเดินหน้าหรือถอยหลังควรที่จะให้รถหยุดสนิทเสียก่อน 
         •  ไม่ควรกดปุ่มปลดล็อคในการเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งจะใช้เฉพาะเกียร์ที่ต้องกดปุ่มปลดล็อคเท่านั้น เช่น เกียร์ P,R,2 และ L 
     
    ข้อควรระวังที่ได้กล่าวถึงนี้ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของรถเอง เนื่องจากในขณะที่จะเข้าเกียร์เดินหน้าหรือถอยหลัง ควรให้รถจอดให้สนิทเสียก่อน เพื่อป้องกันผ้าคลัทช์ที่อยู่ในชุดเกียร์สึกหรอเร็วกว่าปกติ เพราะความแตกต่างระหว่างรอบของเครื่องยนต์ที่สูง อาจทำให้ผ้าคลัทช์ในชุดเกียร์ เกิดการลื่นไถลในขณะที่จะทำการจับยึดกับแผ่นรอง จึงทำให้เกิดการสึกหรอที่เร็วขึ้นและยังทำให้น้ำมันเกียร์สกปรกเร็วขึ้นด้วย ดังนั้นในการเปลี่ยน เกียร์ควรหยุดรถให้สนิทเสียก่อน พร้อมกับเหยียบเบรกไว้เพื่อป้องกันการกระตุก และให้คลัทช์ได้จับเต็มที่ก่อนก่อนที่จะทำการเหยียบคันเร่งเพื่อออกรถหรือถอยหลังต่อไป  

    อีกเรื่องที่ข้อควรระวังได้กล่าวถึง คือ เรื่องการกดปุ่มปลดล๊อคเกียร์ ก็เพื่อป้องกันอันตรายจากการพลาดไปเข้าเกียร์ผิด เช่น ในขณะที่ต้องการจอดรถหรือจะเปลี่ยนจาก D ไป N หากเรากดปุ่มปลดล็อคเกียร์ไว้ด้วย อาจจะทำให้หลุดจากเกียร์ N ไปที่ R ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ ดังนั้นเราต้องการจะเปลี่ยนจาก D ไป N ควรจะเลื่อนเกียร์ไปเลยไม่ต้องกดปุ่มปลดล็อค เพื่อไม่ให้เกียร์เลยไปที่ R หรือ P เพราะนอกจากจะทำให้เกียร์ชำรุด แล้วยังอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้ที่อยู่ในรถรวมถึงบุคคลอื่นด้วย 

 

 


ปุ่มสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟ [O/D OFF]  
ปุ่มสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟ [O/D OFF] จะมีไว้เพื่อเป็นปุ่มกดสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [O/D OFF] รถจะวิ่งได้ 3 เกียร์ คือเกียร์ 1 ถึงเกียร์ 3 [D3] และสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟออน [O/D ON] รถจะวิ่งได้ 4 เกียร์ คือเกียร์ 1 ถึงเกียร์ 4 [D4] แต่อย่างไรก็ตามควรให้โอเวอร์ไดร์ฟออน [O/D ON] เพื่อที่รถยนต์จะวิ่งได้ครบทุกเกียร์ หากโอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [O/D OFF] แสดงขึ้นมาที่หน้าปัทม์รถยนต์แสดงว่ารถจะวิ่งได้แค่ 3 เกียร์ คือ [D1,2,3] จะมีผลต่อการกินน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นเมื่อขับขี่ด้วยความเร็ว ปกติควรให้โอเวอร์ไดร์ฟออน [O/D ON] ไว้ตลอดเวลาเพื่อช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [ O/D OFF ] จะใช้ก็ต่อเมื่อรถวิ่งที่ความเร็วปกติ เกียร์ [D4] และเมื่อเราต้องการที่จะเร่งแซงรถคันข้างหน้าเราจึงกดปุ่มสวิทช์โอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [ O/D OFF ] รถก็จะเปลี่ยนจากเกียร์ [D4] มาเป็น [D3] ทำให้รถมีกำลังที่จะวิ่งแซงรถคันข้างหน้า เมื่อเราวิ่งแซงรถคันข้างหน้าได้ แล้วเราควรยกเลิกโอเวอร์ไดร์ฟอ๊อฟ [O/D OFF] ให้เป็น โอเวอร์ไดร์ฟออน [ O/D ON ] รถก็จะเปลี่ยนจากเกียร์ [D3] มาเป็น [D4] รถก็จะวิ่งด้วยความเร็วปกติ 

 

 

ปุ่มสวิทช์ PWR ECT 
ปุ่มสวิทช์ PWR ECT จะมีไว้เพื่อ เมื่อเรากดปุ่ม PWR ECT นี้ จะทำให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนเกียร์จาก D1--> D2--> D3--> D4 [ ขับขี่ที่ตำแหน่ง “D” ] จะยาวขึ้นหรือเหมือนกับการลากเกียร์เป็นการขับขี่แบบสปอร์ จะทำให้มีการเปลี่ยนเกียร์ที่รอบเครื่องยนต์สูงกว่าปกติ จึงมีผลทำให้รถมีอัตราเร่งที่ดีขึ้น เหมาะสำหรับการขับขี่บน Hi-WAY เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการขับขี่ แต่อย่างไรก็ตามขอแนะนำให้ใช้การขับขี่ในโหมด “ ปกติ ” เพื่อประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากโหมด “ ปกติ ” จะคำนวณปริมาณการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เหมาะสมกับการใช้งานในรอบเครื่องยนต์นั้นๆ ซึ่งถูกควบ คุมโดยกล่องควบคุมเครื่องยนต์ตามความเหมาะสมกับภาระของเครื่องยนต์ และตามลักษณะของการขับขี่ขณะนั้น โดยประมวลผลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ของเครื่องยนต์ จึงทำให้มีความประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในการขับขี่ มากกว่าการขับขี่ในโหมด PWR ECT 

 

ปุ่มสวิทช์ TRC OFF 
ปุ่มสวิทช์ TRC OFF จะมีไว้ใช้สำหรับยกเลิกการใช้งานของระบบป้องกันการตะกุยหรือล้อหมุนฟรีของรถยนต์ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่รถติดหล่ม เพื่อไม่ให้มีการตัดกำลังจากเครื่องยนต์ ที่จะส่งไปยังชุดเกียร์และล้อ ทำให้ล้อสามารถหมุนได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้หลุดจากอุปสรรคนั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากเฟืองท้ายแบบลิมิตเต็ดสลิป แต่ถ้าหากไม่มีสวิทช์ TRC OFF เมื่อรถติดหล่มก็จะไม่สามารถขึ้นจากหล่มได้ เนื่องจากเมื่อรถติดหล่มล้อรถก็จะหมุนฟรี ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีก็จะทำงานโดยการตัดกำลังของเครื่องยนต์ที่จะส่งไปยังชุดเกียร์ มีผลทำให้รถไม่มีกำลังที่จะขึ้นจากหล่มนั้นได้ โดยเมื่อจะใช้งานให้กดสวิทช์ TRC OFF ไฟก็จะติดที่หน้าปัทม์เรือนไมล์ ......เพื่อแสดงว่าระบบได้ยกเลิกการใช้งานระบบป้องกันล้อหมุนฟรีแล้วจึงทำให้รถสามารถขึ้นจากหล่มนั้นได้ 

 

 

ขอบคุณภาพ

auto-ecolecolombette.f

หมวด ข้อมูล-ความรู้ทางเทคนิค | จำนวนคนอ่าน 36914 ครั้ง | เมื่อ : 15 พ.ย. 2550 | ส่งบทความนี้ให้เพื่อน

COASTER ราคาเริ่มต้น 1,960,000 บาท